นายกฯว้ากมติขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ น้อยเกินไป ต้องทบทวนใหม่ ชี้บางจังหวัดขึ้นแค่ 2 บาท ซื้อไข่ยังไม่ได้ วอนนายจ้างให้ความเป็นธรรมผู้ใช้แรงงานหากส่งเข้า ครม.ไม่ยินยอมแน่ ยันสิ่งที่รัฐบาลทำ นายจ้างได้ประโยชน์ทั้งการลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน ย้ำค่าแรงต้องแฟร์กว่านี้ ขณะที่บอร์ดค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง สวนทันควัน มติปรับค่าจ้างเป็นเอกฉันท์ นายจ้างลูกจ้างพอใจ ไม่ควรมีการเมืองแทรก ชี้ 3 จังหวัดชายแดนใต้ไม่ได้ขอปรับขึ้นค่าจ้าง แต่บอร์ดฯยังให้ 2 บาท โดยส่วนใหญ่ปรับขึ้น 8-10 บาท ชี้หากปรับค่าจ้างขึ้นรวดเดียว 400 บาท ต่างชาติย้ายฐานการผลิตแน่ ไม่ใช่แค่วาทกรรม
ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 (บอร์ดค่าจ้าง) 3 ฝ่าย ที่ประกอบด้วยฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล พิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีมติขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่คาดจะเริ่มใช้วันที่ 1 มกราคม 2567 ทั่วประเทศ 2-16 บาท โดย จ.ภูเก็ต เพิ่มสูงสุด 16 บาท ได้ปรับ จาก 354 บาทเป็น 370 บาท ขณะที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ได้ปรับน้อยสุดคือ 2 บาท จาก 328 บาท เป็น 330 บาท ขณะที่เมื่อเฉลี่ยค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ทั่วประเทศ 77 จังหวัด จะเท่ากับ 345 บาท และเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 12 ธันวาคมนี้
ต่อมาเมื่อเวลา 11.00 น. ที่ศูนย์ประสานงาน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายก รัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 2-16 บาท ว่า ค่าแรงขั้นต่ำประเทศไม่ได้ขึ้นมานานมาก แต่ขึ้นน้อยมาก ขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้นทุกวัน รัฐบาลพยายามทำหลายวิธีลดค่าใช้จ่าย ทั้งค่าไฟ ค่าน้ำมัน พักหนี้เกษตรกร รวมถึงการแก้หนี้นอกระบบ-ในระบบ ประชาชนหลายสิบล้านคนต้องพึ่งค่าแรงขั้นต่ำ บางจังหวัดขึ้นแค่ 7-12 บาท น้อยเกินไป ต้องขอวิงวอน อ้อนวอนว่า พี่น้องแรงงานคือผู้ได้รับผลกระทบมากสุดเมื่อค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น การขึ้นค่าแรงผู้ประกอบการต้องพยายามทำ ไม่ใช่มากดค่าจ้าง สิ่งที่รัฐบาลทำนั้น นายจ้างได้ประโยชน์ ทั้งการลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน และอีกหลายอย่าง วันนี้จะยอมให้แรงงานไทยต่ำติดดินแบบนี้หรือ ประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์ เกาหลี ค่าแรงต่อวัน 1,000 บาท จะยอมให้ประชาชนไทยเป็นพลเมืองชั้น 2 ชั้น 3 ของโลกหรือ เมื่อค่าแรงขั้นต่ำติดดินขนาดนี้ จะต้องทบทวนเรื่องค่าจ้างใหม่ พิจารณาดูแนวทางที่เหมาะสม คงไม่ใช่การสั่งการ แต่เป็นการพูดคุยร่วมกันถึงภาพรวมเศรษฐกิจ พ้นจากวันหยุดจะเรียกคุยผู้เกี่ยวข้อง เรื่องนี้ทุกคนกังวลหมด
...
นายเศรษฐายังตอบข้อซักถามจะมีการพิจารณาใหม่ในการปรับค่าแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้แค่ 2 บาทหรือไม่ด้วยว่า คิดอย่างนั้นเหมือนกัน ไม่เข้าใจว่าทำไมขึ้นแค่ 2-3 บาท ไม่สบายใจ ไม่อย่างนั้นจะติดกับรายได้ต่ำ ต้องคุยทั้งไตรภาคีและใน ครม. ต้องขึ้นไปสูงกว่านี้ แต่ต้องฟังเหตุผลเขาเหมือนกัน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น 2-3 บาท ซื้อไข่ลูกหนึ่งยังไม่ได้ ส่วนการปรับเพิ่มค่าแรงจำนวนมากอาจมีปัญหาย้ายฐานผลิตออกจากประเทศไทยนั้นเป็นวาทกรรม ไม่มีใครย้ายเพราะค่าแรงขึ้นจาก 300 บาท เป็น 400 บาท รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมด้านอื่นๆ การขึ้นค่าแรงต้องดูตามความเหมาะสม จังหวัดใหญ่อาจได้ถึง 400 บาท จังหวัดเล็กอาจไม่ถึง รัฐบาลประกาศชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย วันนี้ไม่ได้มาหาเสียง แต่พูดถึงความเป็นจริง ชีวิตประชาชนต้องได้รับการดูแล ขออ้อนวอนนายจ้างให้ความเป็นธรรมผู้ใช้แรงงาน หากเรื่องขึ้นค่าแรงเสนอเข้า ครม. ตนไม่ยินยอมแน่นอน นโยบายค่าแรงขั้นต่ำเป็นนโยบายหลักรัฐบาลนี้
จากนั้นในเวลา 15.30 น.นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลัง ทวีตข้อความผ่านแพลตฟอร์ม X ถึงกรณีค่าแรงขั้นต่ำว่า ค่าแรงต้องแฟร์กว่านี้ ต้องขอหารือร่วมกับคณะกรรมการไตรภาคีถึงความเหมาะสม ให้ภาคแรงงาน ต้องดูภาพรวมเศรษฐกิจทั้งหมด ไม่ได้จะมาขึ้นค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างอย่างเดียว แต่ยังมีมาตรการเพิ่มรายได้ให้จากการเปิดตลาดที่มากขึ้น ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการ นายจ้างได้ประโยชน์ไปบ้างแล้ว ขอความเห็นใจให้กำลังสำคัญอย่างแรงงานภาคการผลิต หากภาคการผลิตมีกำลังซื้อ เศรษฐกิจภาพรวมจะดีขึ้นตามไปด้วย
ต่อมาผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายอรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง และประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภค กรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายก รัฐมนตรี และ รมว.คลัง ไม่เห็นด้วยที่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำน้อยเกินไป และให้กลับไปทบทวนใหม่ว่า ที่ผ่านมาเรื่องให้กลับไปทบทวนใหม่ไม่เคยมีมาก่อน มติของบอร์ดค่าจ้างเป็นการเสนอเพื่อทราบ จึงต้องให้เกียรติคณะกรรมการไตรภาคี 15 คน ที่มาจากตัวแทน 3 ฝ่าย คือ ลูกจ้าง 5 คน นายจ้าง 5 คน และภาครัฐ 5 คน มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดจะเสนอตัวเลขเข้ามา มีอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองอีกชั้นหนึ่งก่อนเสนอเข้าบอร์ดชุดใหญ่พิจารณา การปรับค่าจ้างมีสูตรการคำนวณ ไม่ใช่คิดจะปรับเท่าไหร่ก็ได้
นายอรรถยุทธกล่าวอีกว่า การพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างต้องพิจารณาความจำเป็นของลูกจ้างมีมากแค่ไหนจากปัจจัยเรื่องค่าครองชีพ ดัชนีค่าครองชีพ และตัวเลขเงินเฟ้อ ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง ต้องดูความพร้อมของนายจ้างแต่ละรายธุรกิจ ภาวะเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศเป็นอย่างไร ต้องนำมาพิจารณาก่อนที่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การประชุมปรับค่าจ้างทุกจังหวัดมีมติเป็นเอกฉันท์ โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งนี้ไม่ได้ขอปรับขึ้น แต่บอร์ดให้ปรับขึ้น 2 บาท ซึ่งมีเพียง 3 จังหวัด ส่วนจังหวัดอื่นส่วนใหญ่จะปรับที่ 8-10 บาท เมื่อลูกจ้างรับได้ แสดงว่าเขาต้องอยู่ได้
นายอรรถยุทธกล่าวด้วยว่า นายกฯอาจจะคิดเร็วและพูดเร็วเกินไป ไม่ได้ดูเนื้อในว่าการปรับค่าจ้างมีองค์ประกอบเป็นอย่างไร มีหลักการและสูตรการคำนวณ ไม่ใช่จะเอาเท่าไหร่ก็ได้ ต้องให้นายจ้างและลูกจ้างอยู่ได้ ที่บอกว่าจังหวัดใหญ่ควรให้ขึ้น 400 บาท ทำไม่ได้เพราะผิดหลักเกณฑ์ ถ้าปรับสูงมากนายจ้างปิดโรงงาน สินค้าขึ้นราคา ลูกจ้างจะทำอย่างไร ถ้าค่าจ้างพุ่งสูงมาก 400-600 บาท โรงงานต่างชาติย้ายฐานการผลิตแน่ เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นแค่วาทกรรม เพราะหากมีแนวคิดแบบนี้เขาจะยิ่งไปเร็วขึ้น
“การปรับค่าจ้างเป็นหน้าที่ของบอร์ดค่าจ้างไตรภาคี ถ้าเคาะแล้วไม่เห็นด้วยตามมติก็ไปยกเลิกกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา 87 แล้วไปแก้ให้การปรับค่าจ้างอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีไปเลย กลับไปสู่ยุคไดโนเสาร์อีกครั้ง เรื่องค่าจ้าง 400-600 บาท เป็นวาทกรรมทางการเมือง เป็นการหาเสียง ทั้งที่รู้อยู่ว่าทำไม่ได้ ถ้าจะให้ทบทวนปรับค่าจ้าง อยู่ที่ปลัดกระทรวงแรงงานที่เป็นประธานบอร์ดค่าจ้างจะนำกลับมาพิจารณาหรือไม่ เพราะมีมติไปแล้ว และเรื่องนี้ไม่ควรมีการเมืองแทรก” นายอรรถยุทธกล่าวพร้อมย้ำด้วยว่า ในสภาพทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นายจ้าง สถานประกอบการจะอยู่ไม่ได้ ถ้าปรับไป 400 หรือ 600 บาท ตามนโยบาย
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่