แทบจะไม่เป็นข่าวในสื่อใดๆ นอกจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กรณีที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่จังหวัดหนองบัวลำภู เห็นชอบในหลักการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจกว้างขวาง คล้ายกับซีอีโอของบริษัทเอกชน มีอำนาจประเมินผลงานของข้าราชการระดับสูง รวมทั้งขึ้นเงินเดือน ปูนบำเหน็จและลงโทษทางวินัย

เป็นแนวความคิดแบบรัฐราชการรวมศูนย์ที่เคยถูกโฆษกพรรคก้าวไกลโจมตีหลังการแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ว่าเลียนแบบแนวคิดผู้ว่าฯซีอีโอของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยสมัยทักษิณและโจมตีนายกรัฐมนตรีว่าทอดทิ้งสัญญาในการหาเสียงจะกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้ประชาชนเลือกตั้งผู้ว่าฯ

เป็นแนวทางรัฐราชการรวมศูนย์ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นข้าราชการส่วนภูมิภาค จากการแต่งตั้งของกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจเหนือข้าราชการระดับสูงของกระทรวงต่างๆในระดับจังหวัด เช่น ศึกษาธิการจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด ลืมคำสัญญาจะให้ประชาชนเลือกตั้งผู้ว่าฯจังหวัด

ขณะเดียวกันยังให้มีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นนักการเมืองส่วนท้องถิ่น มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นการปกครองที่ประหลาดพิสดาร ไม่มีที่ไหนในประเทศประชาธิปไตยที่ผู้บริหารจังหวัดมีทั้งข้าราชการส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น และให้ผู้ว่าฯจากการแต่งตั้งมีอำนาจเหนือผู้มาจากการเลือกตั้ง

เรื่องพิสดารแบบนี้มีเฉพาะประเทศไทย ที่มีการปกครองประเทศทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ไม่ได้มีแค่ระดับจังหวัด แต่มีทั้งระดับตำบล มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตามกฎหมายการปกครองท้องที่ และมีนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตามกฎหมายท้องถิ่น และมาจากเลือกตั้ง

กำนัน ผู้ใหญ่บ้านซํ้าซ้อนกับ อบต. เช่นเดียวกับนายก อบจ.ซํ้าซ้อนกับผู้ว่าฯ มีบางฝ่ายเสนอให้ยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน เพื่อไม่ให้มีปัญหาซํ้าซ้อน แต่รัฐบาลคัดค้านว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นสถาบันเก่าแก่ยกเลิกไม่ได้ แต่ทำไม กทม.ที่เคยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แต่ขณะนี้ไม่มีแล้ว หลังจากที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทุกฝ่ายยอมรับ

...

ปัจจุบันสถานการณ์ของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา ในการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมาหลายพรรครวมทั้งพรรคเพื่อไทย สัญญาว่าจะกระจายอำนาจสู่ประชาชน ยกสถานะจังหวัดที่มีความพร้อม เป็นองค์กรท้องถิ่นขนาดใหญ่ และเลือกตั้งผู้ว่าฯ แต่ทำไมถอยหลังเข้าคลอง.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม