รมว.สธ. ใช้ “ปลาตะเพียน” เป็นสื่อสัญลักษณ์ส่งเสริมการมีบุตร เตรียมถก 25 ธ.ค.นี้ จัดทำแผนส่งเสริมการเกิดเป็นวาระแห่งชาติ หนุนคนมีบุตรยาก หลากหลายทางเพศ หนุ่มโสด สาวโสด ให้มีลูกได้ ฝาก อสม.ช่วยสื่อสารเปลี่ยนทัศนคติ “การเกิดคือการให้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด”

วันที่ 6 ธันวาคม 2566 ที่สถานีรถไฟบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร พบปะให้กำลังใจอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จ.พระนครศรีอยุธยา ภายหลังประชุมสัญจรผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขขับเคลื่อนการส่งเสริม เพิ่มเด็กไทยเกิดดีมีคุณภาพ Give Birth Great World บนขบวนรถไฟซึ่งเดินทางออกจากสถานีหัวลำโพงเมื่อช่วงเช้า

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ประเทศไทย เป็นหนึ่งใน 23 ประเทศ ที่มีอัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการตาย และประสบปัญหาเด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ หากไม่เร่งแก้ไขตั้งแต่ตอนนี้ ในอนาคต 60 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะประสบปัญหาเรื่องการสร้างเศรษฐกิจ เนื่องจากจะมีประชากรลดลงเหลือ 33 ล้านคน ในจำนวนนี้จะมีวัยทำงานเพียง 14 ล้านคน ดังนั้นต้องช่วยกันเพิ่มการเกิดที่ดีมีคุณภาพ ส่งเสริมให้คนที่ต้องการมีบุตรได้มีบุตร โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มองว่าการมีบุตรกระทบต่อวิถีชีวิต และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของตนเอง สำหรับการใช้ปลาตะเพียนเป็นสัญลักษณ์ในการรณรงค์ เนื่องจากวัฒนธรรมไทยแต่โบราณมีการใช้ปลาตะเพียนสานเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก โดยผูกไว้เหนือเปลให้เด็กได้เคลื่อนไหวสายตา และการสัมผัส อีกทั้งปลาตะเพียนยังเป็นสัญลักษณ์ของสัตว์ที่สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของดิน และน้ำด้วย

...

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า สำหรับการส่งเสริมการมีบุตรนั้นจะขับเคลื่อนเป็นวาระแห่งชาติ โดยรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะให้สิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนในประเทศ เพื่อรักษาอัตราการเจริญพันธุ์รวมไม่ให้ลดลงเร็วจนเกินไป โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะกรรมการที่มีอธิบดีกรมอนามัยเป็นประธาน ทำงานร่วมกับคณะกรรมการอนามัยเจริญพันธุ์ที่มาจากหลายหน่วยงาน หลายกระทรวง เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ซึ่งจะมีการประชุมวันที่ 25 ธันวาคมนี้ เพื่อยกร่างแผนส่งเสริมการเกิดให้เป็นวาระแห่งชาติ ว่าลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย เด็กเกิดมามีคุณภาพดี เป็นที่ยอมรับ และทุกภาคส่วนควรมีส่วนร่วมอย่างไร

“คนที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ถือเป็นบุคคลสำคัญที่เราต้องดูแล ตั้งแต่ก่อนแต่งงานดูความพร้อมทางสุขภาพ หลังแต่งงานดูแลให้มีลูก ขณะตั้งครรภ์ ดูแลสุขภาพของแม่ และทารกในครรภ์จนถึงคลอด ตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรม 40 โรค ส่วนมิติอื่นๆ เช่น สังคม เศรษฐกิจ ก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในคณะกรรมการรับผิดชอบ นอกจากนี้ยังได้ฝากให้ อสม.ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับชุมชนช่วยสื่อสารให้คนเห็นความสำคัญของการมีบุตร และปรับมุมมองใหม่ว่า การเกิดเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ของโลก” นพ.ชลน่าน กล่าว

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ตามนโยบาย Quick Win ของกระทรวงสาธารณสุข 13 ประเด็น โดยเฉพาะนโยบายการส่งเสริมการมีบุตร Healthy City MODELS เศรษฐกิจสุขภาพ นักท่องเที่ยวปลอดภัย และการแพทย์ปฐมภูมิ ตั้งเป้าหมาย 100 วันให้แล้วเสร็จ กระทรวงสาธารณสุข ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมที่เกี่ยวข้องประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคสังคม และภาคประชาชน ดำเนินการร่วมกัน สำหรับกรมอนามัยเดินหน้าตามนโยบายหลายด้าน ทั้งมาตรการส่งเสริมการมีบุตรกำหนดกรอบนโยบายสร้างเด็กไทย เกิดดี มีคุณภาพ และเน้นแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงดูบุตร การช่วยเหลือคนที่มีบุตรยาก และการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ รวมทั้งในกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มหนุ่มโสด สาวโสดที่อยากมีลูก ให้มีโอกาสมีลูกได้ เพื่อเติมเต็มโลกทั้งใบ ด้วยการให้ที่ยิ่งใหญ่

ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้กรมอนามัยขับเคลื่อนนโยบาย Quick Win ทั้ง 13 ประเด็น สำหรับการส่งเสริมการมีบุตรให้มีคลินิกส่งเสริมการมีบุตร จังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีบุตรยากได้เร็วขึ้น ขณะนี้โรงพยาบาลทั่วประเทศ จำนวน 901 แห่ง มีบริการส่งเสริมการมีบุตร จำนวน 801 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 88.90 โดยมี โรงพยาบาลจัดบริการ IUI (Intra – Uterine Insemination) จำนวน 32 แห่ง และ IVF (In-vitro Fertilization) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ โรงพยาบาลตรัง และโรงพยาบาลหาดใหญ่ รวมทั้ง โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ได้ทำการเปิดป้ายคลินิกส่งเสริมการมีบุตรในวันนี้ ที่มีการทำงานเชิงรุกให้ อสม.ค้นหาประชาชนในพื้นที่ที่มีความพร้อมและมีบุตรยากเข้ารับบริการ.