ปลัด มท. ลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ตรวจเยี่ยมแปลงโคก หนอง นา อำเภอเพ็ญ เน้นย้ำ KPIs ของศูนย์การเรียนรู้โคก หนอง นา ไม่ใช่ปริมาณคนมาเยี่ยมชม แต่ต้องทำให้ทุกครัวเรือนน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ไปใช้ จนเป็นวิถีชีวิตอย่างมีคุณภาพ

วันที่ 3 ธ.ค. 2566 ที่พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” แปลง นางสาวศิรินภา ยางขันธ์ เลขที่ 10 หมู่ที่ 7 ต.สุมเส้า อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” และร่วมเวทีเสวนาความสำเร็จพัฒนาชุมชน “โคก หนอง นา” ร่วมกับ พระครูปลัดไชยา ถาวรสทฺโท เจ้าคณะตำบลสุมเส้า เขต 1 เจ้าอาวาสวัดปทุมเขตวนาราม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ความสำเร็จของ นางสาวศิรินภา ยางขันธ์ หรือ น้องยู้ยี่ เจ้าของแปลงศูนย์เรียนรู้การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” (CLM) คือ การบริหารจัดการน้ำ ซึ่งได้รับการฝึกอบรมที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก ทำให้มีความเข้าใจและความสามารถในการเอาความรู้จากความเข้าใจมาใช้ในพื้นที่ของตัวเอง ทำให้มีปัจจัย 4 คือ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย อาหารการกิน มีการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีการปลูกป่า 3 อย่าง ให้ประโยชน์ 4 อย่าง อาทิ ป่าไม้ใช้สอย ก็จะมาสร้างบ้าน สร้างที่อยู่อาศัย มีป่าไม้กินได้ นำเป็นอาหาร เป็นยาสมุนไพร มีป่าเศรษฐกิจ เป็นแหล่งรายได้ของครัวเรือน เป็นพืชที่สามารถนำมาจำหน่ายใช้สอยได้ และประโยชน์ในการสุดท้าย คือ ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ ในการจะช่วยสร้างสมดุลของระบบนิเวศ และลดภาวะโลกร้อน

...

เกษตรทฤษฎีใหม่เป็นปฐมบทในการแบ่งพื้นที่ให้เป็นอัตราส่วน 30:30:30:10 ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยทรงเรียกว่า “อารยเกษตร” มีโคก มีหนอง มีนา มีคลองไส้ไก่ เป็นลำห้วยลำธาร มีหลุมขนมครกอยู่กระจายในพื้นที่ มีการปรับปรุงพื้นที่ 

“สำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” เรื่องที่สำคัญที่สุด คือ การบริหารจัดการพื้นที่ให้เหมาะสม โดยมีน้ำเป็นส่วนสำคัญ เพราะเมื่อมีน้ำแล้วก็จะทำให้พืชพรรณต่างๆ มีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ KPIs ของศูนย์การเรียนรู้โคก หนอง นา ไม่ใช่ปริมาณคนมาเยี่ยมชม แต่ต้องทำให้ทุกครัวเรือนน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ไปใช้ จนเป็นวิถีชีวิตอย่างมีคุณภาพและจริงจัง” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย

ภายหลังจากการเสวนาแล้วเสร็จ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมปลูกต้นรังหรือต้นฮัง (Burmese sal, Ingyin) ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบออกดอกสีเหลือง กลิ่นหอม ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดอุดรธานี แล้วเดินเยี่ยมชมบริเวณแปลงโคก หนอง นา แปลงสมุนไพร และร่วมอุดหนุนผลผลิตทางการเกษตรภาคีเครือข่ายโคก หนอง นา ในพื้นที่อีกด้วย.