“ชาญชัย” ชี้เป้า “นายกฯ เศรษฐา” ดูการแก้หนี้โดยไม่ผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ของ “บอร์ด ทอท.” ให้บริษัทเอกชนรายเดียวกว่า 4.2 หมื่นล้าน แนะ ปรึกษา “กฤษฎา” รมช.คลัง ย้ำ อย่า 2 มาตรฐาน ถาม ประชาชนคนไทย มีสิทธิแบบนี้ไหม

วันที่ 30 พ.ย. 2566 ที่รัฐสภา นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ยืนยันจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อแจกในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต คนละ 1 หมื่นบาท ว่า ตนไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพราะตนมีประสบการณ์กับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่ได้ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติในกรณีที่ตนฟ้องการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ที่เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่อ้างสถานการณ์โควิด-19 ว่า เป็นภัยพิบัติ โดยได้มีมติลดรายได้ของรัฐรวม 4.2 หมื่นล้านบาทเศษ ให้กับกลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ จำกัด ตามรายงานการประชุมโดยไม่ได้เอ่ยถึงชื่อของบริษัทอื่นใดเลย ปรากฏว่า ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลัง ที่ร่วมเป็นคณะกรรมการบริหาร ทอท. หรือ บอร์ด ทอท. อาทิ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง ซึ่งขณะนั้นเป็นอธิบดีกรมศุลกากร และต่อมาได้ขยับขึ้นเป็นปลัดกระทรวงการคลัง และยังรวมถึงอดีตอธิบดีในกระทรวงการคลังอีกหลายคน โดยบอร์ด ทอท.ได้ไปให้การต่อศาลผ่านอัยการ ที่เป็นทนายแก้ต่างให้ว่า การลดรายได้ 4.2 หมื่นล้านบาทเศษให้กับบริษัทเอกชนเพียงแห่งเดียว สามารถทำได้โดยไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง โดยอ้างว่า บริษัทท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวและกฎหมายอีกหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างปี 2560 ทั้งที่ เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ซึ่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง (ศาลชั้นต้น) ก็เชื่อพยานบุคคลของกระทรวงการคลัง โดยพิพากษาว่า ไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และถือว่าการลดรายได้ซึ่งเป็นรายได้ของแผ่นดินครั้งนี้ บอร์ด ทอท. มีอำนาจทำได้ เพราะอ้างเหตุว่า เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จนเกิดการไปแก้สัญญาใหม่และเป็นสาเหตุให้รัฐต้องเสียหายเพิ่มอีก 1 แสนล้านบาทในการที่บอร์ดรัฐวิสาหกิจของรัฐมีมติในการลดรายได้ที่บริษัทเอกชนเพียงรายเดียวต้องส่งคืนให้รัฐ ซึ่งต้องจ่ายตามสัญญาที่ประมูลได้ตามเงื่อนไขของ TOR เดิม แต่กลับไม่ทำ

...


“ดังนั้น ผมจึงขอให้นายกฯ ในฐานะ รมว.คลัง ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการวินัยการเงินการคลัง ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ไปปรึกษาหารือและขอคำแนะนำจาก นายกฤษฎา รมช.คลัง และบอร์ด ทอท. ว่า จะใช้วิธีใดที่จะหาเงินมาทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยที่ไม่ต้องออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท หรือจะใช้วิธีใด ที่จะเลี่ยงการปฎิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เพราะมีผู้เชี่ยวชาญใกล้ตัวท่านนายกฯ มากที่สุดอยู่แล้ว คือ รมช.คลัง ที่เคยตกเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวทั้งนี้ ผมจะแถลงรายละเอียด ในคดีนี้กรณีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการคลัง ที่ไปให้การต่อศาลทุจริตกลาง ว่า ไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังว่า อย่างไรบ้าง เพื่อให้นายกฯ และรมว.คลัง ได้รับทราบ หรือจะนำไปเป็นแนวทางในการเลี่ยงที่จะปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เพื่อหาเงินจำนวนมหาศาลนี่มาใช้จ่ายในโครงการนี้ก็ได้” นายชาญชัย กล่าว

นายชาญชัย กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีข่าวมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566 ว่า รัฐบาลแก้ไขหนี้ โดยการยกเลิกหนี้ และแก้ไขหนี้ให้แก้ประชาชน คือ 1. ไม่ต้องการให้เสียดอกเบี้ยแพง 2. ปรับหนี้นอกระบบเข้ามาสู่ในระบบโดยหาธนาคารมารับหนี้ของประชาชนแทน โดยประเมินว่า คนไทยมีหนี้นอกระบบมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งนายกฯ ระบุว่า ต่ำกว่าความเป็นจริง ประชาชนเหล่านี้ไม่สามารถฝัน แม้กระทั่งจะฝันยังถูกปิดกั้นโอกาสเติบโตส่งผลกระทบเปรียบเหมือนเป็นการค้าทาสยุคใหม่นั้น ตนอยากบอกนายกฯ เศรษฐาว่า ขอให้ท่านไปหารือกับนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในบอร์ด ทอท. ที่ร่วมแก้ไขหนี้ให้กับบริษัท คิงเพาเวอร์ อินเตอร์ โดยการลดค่าปรับ ไม่เรียกเก็บค่าความเสียหายจากการยกเลิกสัญญา ซึ่งตามสัญญาต้องจ่ายเงินให้ ทอท. เป็นค่าสัมปทานผูกขาด แต่ผู้เดียวที่สนามบินดอนเมือง

“ส่วนที่นายกฯ ระบุว่า การแก้ไขหนี้ครั้งนี้ไม่ใช่ ยาปาฏิหาริย์ ท่านนายกฯ ผมจึงเสนอท่านนายกว่า วิธีแก้แบบมีปาฏิหาริย์ มีเกิดขึ้นแล้วที่หน่วยงานของรัฐชื่อย่อว่า ทอท. โดยบอร์ด ทอท. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็น ข้าราชการระดับสูง ใช้อำนาจเหนือกฎหมายวินัยเงินการคลัง และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและ พ.ร.บ.ว่าด้วยเรื่องงบประมาณ รวมถึงกฎหมายอื่นๆ เหตุที่ต้องใช้ พ.ร.บ. ดังกล่าวเหล่านี้ เพราะเป็นรายได้และทรัพย์สินของแผ่นดิน แต่บอร์ด ทอท.กลับใช้อำนาจยกหนี้ให้แก่บริษัทเอกชนเพียงรายเดียว และเป็นเงินมากกว่า 4.2 หมื่นล้านบาท”

กรณีนี้เป็นการแก้หนี้แบบปาฏิหาริย์ที่นายกฯ เศรษฐากำลังแสวงหา ประชาชนมีโอกาสแบบนี้บ้างหรือไม่ บริษัทต่างๆ ที่ต้องเสียภาษีและธุรกิจต่างๆ ที่ขาดทุนได้รับโอกาสการยกเว้นเช่นนี้บ้างหรือไม่ ประเทศไทยมีบริษัทนี้รายเดียวที่ได้รับการแก้ไขหนี้เท่านั้น ใช่หรือไม่ การแก้หนี้ที่เป็นทรัพย์สินและรายได้ของประเทศ ที่มีกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ที่ต้องปฏิบัติตาม นายกฯ ไปดูตัวอย่างการเลี่ยงกฎหมายว่า ต้องสอบสวนหาผู้กระทำความผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศหรือไม่ หรือนายกฯ คิดว่า เป็นแฟนคลับกับทีมฟุตบอลนี้แล้วสามาถทำอะไรก็ได้” นายชาญชัย กล่าว