“สว. สมชาย” ไม่หนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับก้าวไกล เชื่อ ไม่ผ่านวุฒิสภา ย้ำ หนุนปรองดอง แต่ต้องไม่นิรโทษฯ ให้ 3 คดี “มั่นคง-ทุจริต-ผิดอาญาร้ายแรง-คดี ม.112”
วันที่ 30 พ.ย. 2566 นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ยืนยัน ยึดมั่นหลักการสนับสนุนปรองดองนิรโทษกรรมคดีการเมือง คัดค้านนิรโทษกรรม 3 คดีมั่นคงสำคัญ คือ การทุจริตชาติ คดีอาญาร้ายแรง เช่น คดีฆ่ากันตายแล้วอ้างเหตุทางการเมืองและคดีความผิด ม.112 โดยเฉพาะคดีนี้ ที่กลุ่มแกนนำ หัวหน้าพรรคได้เคลื่อนไหวเป็นนโยบายในการล้ม แก้ไขกฎหมาย และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วจะมาอ้างเหตุเพื่อนิรโทษกรรมนั้น เป็นการเขียนกฎหมาย เพื่อช่วยในสิ่งที่ตัวเองกระทำความผิด ทั้งที่หากสำนึกว่ากระทำผิด ก็สามารถทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคลได้ เช่นเดียวกับแกนนำหลายบุคคลที่เป็นนักวิชาการในอดีตก็เคยได้รับพระราชทานอภัยโทษมาแล้ว
ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะ ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ของพรรคก้าวไกล ที่มีรากมาจากความเคลื่อนไหวของพรรคอนาคตใหม่ คณะก้าวหน้า ต่างกรรมต่างวาระในการสนับสนุนให้มวลชน สมาชิก สส. คณะกรรมการบริหาร รวมถึงผู้นำทางความคิดหลายคน ที่ไปจาบจ้วงละเมิดจนผิดกฎหมาย ตนไม่เห็นด้วย 100% และเชื่อว่า หากเสนอมา สว. ก็คงไม่ให้ความเห็นชอบ
ส่วนคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อส้ม ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นเรื่องทางการเมืองก็ให้นิรโทษกรรมได้ และเห็นว่าเรื่องนี้รัฐบาลสามารถออกเป็นพระราชกำหนดได้เลย ซึ่งหากไม่มีเงื่อนไข 3 เรื่องดังกล่าวก็พร้อมที่จะสนับสนุน
“สรุปว่าเห็นด้วยกับกระบวนการความปรองดองสมานฉันท์และขั้นตอนที่จะทำนั้น ไม่จำเป็นต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ รัฐบาลนี้สามารถออกเป็นพระราชกำหนดได้เลย แต่ต้องชัดเจนว่ามีเรื่องใดบ้างและต้องไม่มี 3 เรื่องนี้ ซึ่งถ้าออกเป็นพระราชบัญญัติก็ต้องใช้เวลานานหน่อย ต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา แต่ก็เห็นด้วยในหลักการว่า ถ้าจะนิรโทษกรรมจะต้องยึดหลักเรื่องนิรโทษกรรมและกระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนผ่าน ต้องยึดหลักความเข้าใจที่มีต่อกันแบบมีผลในระยะยาวและเป็นจริงได้ ไม่ใช่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อให้ตัวเองพ้นผิดแล้วกลับไปทำความผิดอีกต่อไป เพราะจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มั่นใจว่า สังคมไทยชัดเจนหรือยังว่า จะปรองดองสมานฉันท์กันแบบถาวรจริงหรือไม่ เพราะเงื่อนไขที่ยื่นมาในการนิรโทษกรรมคดี ม.112 ก็ดีหรือคดีทุจริต ล้วนเป็นเงื่อนไขที่เขียนกฎหมายเพื่อให้ตัวเองซึ่งกระทำผิดแล้วไม่ต้องรับโทษมากกว่า ที่จะเดินหน้าไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์อย่างแท้จริง” นายสมชาย กล่าว
...
ส่วนหาก พ.ร.บ. ดังกล่าว ผ่านสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ และส่งมาวุฒิสภา จะคว่ำหรือไม่นั้น นายสมชาย กล่าวว่า จะไม่คว่ำ และจะช่วยกลั่นกรองแก้ไขให้ดีขึ้นโดย ต้องยึดในหลักการปรองดองสมานฉันท์แท้จริง สว.ส่วนใหญ่ก็คงจะเห็นด้วยเช่นนั้น ในเรื่องความปรองดองสมานฉันท์มีความพยายามทำมาหลายรอบแล้ว แต่ไม่เคยสำเร็จ เพราะหลักการปรองดองที่ดีที่ทั่วโลกดำเนินการได้ผล คือ การยินยอมพร้อมใจกันทุกฝ่ายที่จะปรองดองในความเห็นต่าง พร้อมแสดงออกยอมรับผิดในสิ่งที่เคยกระทำต่อกันและกัน ซึ่งสังคมไทย ต้องมีความเห็นพ้องร่วมกันทั้งสังคมด้วย จึงจะปรองดองสมานฉันท์กันได้จริง
ดร. สมชาย แสวงการ
สมาชิกวุฒิสภา/ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน
สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา
30 พ.ย. 2566