“วราวุธ” ชี้ ต้องรอผลตำรวจ 7 ขอทานชาวจีนเป็นขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่ ยัน พม. ประสานงานหลายหน่วยงานแก้ปัญหาขอทาน แนะคนไทยใจบุญในทางที่ถูก ต้องไม่ให้เงินขอทาน

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงกรณีการแก้ไขปัญหาขอทานชาวต่างชาติที่เข้ามาหากินในประเทศไทย ยืนยันว่าขอทานเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย ไม่สามารถทำได้ เพราะผิดกฎหมายอย่างชัดเจน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติก็ไม่สามารถจะมาขอทานได้ เพราะเรามีกฎหมายเอาผิด เมื่อจับตัวได้แล้วหากเป็นคนไทยทาง พม. จะรับช่วงต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ นำตัวเข้าสู่สถานคุ้มครอง แต่หากเป็นขอทานชาวต่างชาติ พม. จะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อส่งให้กระทรวงการต่างประเทศส่งกลับประเทศต้นทาง หรือหากพิสูจน์ได้ว่าหากเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ ก็จะเข้าสู่กระบวนการภายหลังการคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism – NRM) ในการตรวจสอบและดำเนินการต่อไป 

นายวราวุธ ระบุต่อไปว่า การที่มีภาคเอกชนเข้ามาช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐ เราก็ต้องขอขอบคุณ การที่ออกสื่อเป็นประจำก็เป็นสิ่งที่ช่วยในการแจ้งเบาะแสได้ ทางเจ้าหน้าที่ พม. ร่วมกับตำรวจ และหน่วยงานในพื้นที่ เช่น กรุงเทพมหานคร ทำงานร่วมกันตลอด 24 ชั่วโมง หากประชาชนคนใดพบเห็นเหตุ ขอให้แจ้งเบาะแสเข้ามาได้ เพราะนอกจากเอกชนแล้ว พม. และหน่วยงานของรัฐก็มีศูนย์รับแจ้งโดยตรงเช่นกัน อาจจะทำงานไม่ทันใจเราก็ต้องขออภัย เพราะจำนวนเจ้าหน้าที่มีอยู่หยิบมือเดียวหากเทียบกับประชาชนทั่วประเทศที่จะช่วยเป็นหูเป็นตาได้ หากทุกคนช่วยกันแจ้งเบาะแสเข้ามา เราต้องขอขอบคุณ

จากนั้นผู้สื่อข่าวถามว่า ขอทานต่างชาติเป็นชาวจีนถูกจับถึง 7 คนมองว่าเป็นขบวนการหรือไม่ นายวราวุธ เผยว่า ทุกอย่างมีความเป็นไปได้ทั้งนั้น แต่ก็ต้องดูสาเหตุว่าการที่เขาเดินทางเข้าประเทศเป็นการเข้ามาอย่างไร มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการใดหรือไม่ แต่ทาง พม. เราไม่มีอำนาจในการสอบสวนหรือดำเนินการ ดังนั้น ต้องรอข้อมูลจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ 

...

ส่วนคำถามว่าประเทศไทยเองก็มีขบวนการขอทานในเชิงธุรกิจสงเคราะห์เช่นกัน ตรงนี้ พม. จะเข้าไปแก้ปัญหาอย่างไร นายวราวุธ ตอบว่า เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ของ พม. เราทำงานร่วมกับอีกหลายภาคส่วน มีหน่วยเคลื่อนที่เร็วทำงานควบคู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่การที่จะบอกว่าเป็นขบวนการหรือไม่นั้น เราก็ต้องทำงานร่วมกับตำรวจในการดูว่ามีการทำงานอย่างเป็นขบวนการหรือไม่ 

“ขอย้ำว่า ปัญหาเรื่องขอทานไม่ยากเลย หากประชาชนที่เดินผ่านไปผ่านมาร่วมใจกันอย่าให้เงินแก่ขอทาน เมื่อเขาไม่ได้เงินมันก็ไม่เป็นธุรกิจ ดังนั้นในความเป็นจริงแล้ว การแก้ปัญหาขอทานถ้าว่ายากมันก็ยาก ปราบปรามเก็บกวาดเท่าไรก็เกิดขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ การแก้ปัญหาขอทาน คือไม่ให้เงินขอทานเท่านั้นก็จบ เพราะเท่าที่มีข้อมูล ขอทานบางคนมีเงินมากกว่านักศึกษาจบปริญญาตรีเสียอีก ดังนั้น สำคัญที่สุดคือคนไทยเป็นคนใจบุญแต่เราต้องใจบุญในทางที่ถูกต้องดีกว่า อย่าส่งเสริมในทางที่ผิดกฎหมาย”

ส่วนคำถามมีการสรุปหรือไม่ว่าขอทานชาวจีนที่ถูกจับร่วมขบวนการขอทานข้ามชาติหรือไม่ นายวราวุธ บอกว่า การจะได้ข้อมูลดังกล่าวเราต้องรอทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะ พม. ไม่มีอำนาจไปสอบสวน ที่สำคัญเราต้องใช้ทีมสหวิชาชีพในการเข้าพูดคุย ตรวจสอบกับผู้เสียหายก่อนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และทำงานเพื่อนำข้อมูลประสานงานกับทางตำรวจ การจะตัดสินได้ว่าเป็นขบวนการค้ามนุษย์หรือเป็นขบวนการอย่างไรนั้น มีขั้นตอนและมีองค์ประกอบอยู่ ซึ่งการตรวจสอบในชั้นนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังตรวจสอบว่าเข้าข่ายหรือไม่ อย่างไร หากทราบผลตำรวจคงแจ้งให้ประชาชนทราบว่าเป็นขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่ แต่ตอนนี้ต้องรอความชัดเจนจากตำรวจก่อน 

ผู้สื่อข่าวถามต่อ ในบ้านเราที่ผ่านมาเคยมีกระบวนการลักษณะนี้หรือไม่ ที่จะเข้าข่ายค้ามนุษย์และนำเข้ามาเพื่อการแสวงหาประโยชน์ รมว.พม. ระบุว่า เคยมี ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เราต้องเร่งทำงาน เพราะประเทศไทยต้องส่งทิปรีพอร์ต (TIP Report) ให้กับสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่าเป็นขบวนการค้ามนุษย์ เท่ากับว่ายังไม่กระทบกับการทำทิปรีพอร์ตของไทย ยังมีเวลาอีกสักพักหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า การที่มีล่ามหรือทนายความคนเดิมๆ เข้ามาช่วยในคดีขอทานจีน จะสามารถมองได้หรือไม่ว่าเป็นขบวนการค้ามนุษย์ นายวราวุธ เผยว่า มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็น แต่การที่จะยืนยันให้ได้ว่าเป็นขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่นั้น ต้องขอให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคนยืนยัน คงจะไม่ใช่ทาง พม. ที่จะยืนยัน.