โฆษกรัฐบาล ชี้แจงตอบโต้ ธปท. หลังไม่เห็นด้วยมาตรการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท พร้อมถามกลับ ปีที่แล้วรัฐบาลก่อนก็ทำ เหตุใดไม่ท้วงติง ยัน รัฐบาลนี้พิจารณาอย่างถี่ถ้วน ขอให้เป็นหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนในการแถลงข่าวผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงมาตรการจ่ายเงินชาวนา 1,000 บาทต่อไร่ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นว่าไม่จำเป็นต้องออกมาตรการนี้ นายชัย ระบุ เข้าใจว่าเป็นหนังสือจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สอบถามความเห็นไปยัง ธปท. เกี่ยวกับกรณีที่เมื่อวันที่ 7 และ 14 พฤศจิกายน 2566 มีมาตรการช่วยเหลือชาวนา โดยวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 เป็นการแทรกแซงด้วยการซื้อราคานำ ส่วนวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 เป็นการช่วยชาวนาด้วยการให้เงินไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาท คือการให้เงินสนับสนุนและพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร (ข้าว)
โฆษกรัฐบาล ชี้แจงต่อไปว่า คำชี้แจงของหนังสือเปิดผนึกจาก ธปท. เนื่องจากราคาข้าวในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น และต้นทุนในกาผลิตลดต่ำลง ดังนั้น ธปท. จึงแสดงความเห็นว่า การให้เงินช่วยเหลือสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพข้าว ไร่ละ 1,000 บาท อาจจะไม่ค่อยจำเป็นแล้ว ไม่เหมือนก่อนหน้านี้
“ผมขอชี้แจงแบบนี้ว่า หนังสือที่ธนาคารแห่งประเทศไทยชี้มาแจงมา ที่บอกความจำเป็นมันน้อยลงแล้ว ความหมายนัยๆ คือเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ฤดูการผลิตข้าวนาปี 2565 เมื่อปีที่แล้วราคาข้าวเปลือก ไม่ว่าจะเป็น ข้าวเปลือกจ้าว ข้าวเปลือกปทุมธานี ข้าวเปลือกเหนียว หรือข้าวเปลือกหอมมะลิ ในปีที่แล้วราคาไม่ดี รัฐบาลที่แล้วให้เงินอุดหนุนช่วยเหลือชาวนาผ่านมาตรการ โครงการต่างๆ ไปเกือบ 150,000 ล้าน ในจำนวนนี้มีอยู่ 86,000 ล้าน ใช้เพื่อประกันราคาข้าวเปลือก และยังมีการให้เงินสนับสนุนการบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพข้าว เช่นเดียวกับครั้งนี้ ให้แบบเดียวกันเลย”
...
พร้อมระบุต่อไปว่า เงินที่ชาวนาได้จากการขายข้าวเปลือกในปีนี้ แม้จะสูงกว่าปีที่ผ่านมา แต่ปี 2565 ชาวนาได้เงินอุดหนุนจากการประกันราคา เมื่อบวกแล้วเงินที่ชาวนาขายข้าวได้ฤดูการผลิตปีนี้กับปีที่แล้วพอๆ กัน แทบไม่ต่างกันเลย เพราะปีนี้ราคาข้าวเปลือกขึ้นรัฐบาลจึงไม่ได้ประกันราคา รายได้ 2 ปีจึงไม่ต่างกันเท่าไร ขณะสิ่งที่จะแย่กว่าปี 2565 คือ ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2566 จนถึงต้นพฤศจิกายน รัฐบาลมีมติ ครม. 2 รอบ (วันที่ 7 และ 14 พฤศจิกายน 2566) เป็นช่วงเวลาที่ข้าวเปลือกหอมมะลิกำลังจะออกตลาด และแม้จะมีการประกาศราคาพอๆ กับปีที่แล้ว ตันละประมาณ 14,500 -15,000 บาท ความชื้นท่ี 15% แต่รับซื้อจริงความชื้น 25% ชาวนาจะขายราคาข้าวเปลือกหอมมะลิได้น้อยลงกว่าเดิมและไม่มีเงินประกันในปีนี้ แต่ราคาข้าวเปลือกอื่นๆ ดี
ดังนั้น รัฐบาลจึงเพียงอุดหนุนในเรื่องการบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพข้าวเท่าๆ กับปีท่ีแล้ว ใช้เงินประมาณ 56,000 ล้านบาท สูสีกับปีที่แล้ว พูดง่ายๆ ปีนี้ใช้เงินอุดหนุนน้อยกว่าปีที่แล้วเกินครึ่ง ขณะที่ปุ๋ยที่ชาวนาใช้หลายสูตรแพงกว่าปีที่แล้ว ต้นทุนปีนี้สูงขึ้นเล็กน้อยจากปีที่แล้ว หนังสือจาก ธปท. จึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการกษตรโดยตรง จะมีความละเอียดกว่าที่ ธปท. อาจจะมีเพียงรายงานกว้างๆ ก่อนทิ้งท้ายว่า ข้อเท็จจริงไม่ใช่ตามที่ ธปท. ชี้
นอกจากนี้ โฆษกรัฐบาล ยังรู้สึกแปลกใจว่า ปีที่แล้วรัฐบาลใช้เงินอุดหนุนช่วยชาวนาเกือบ 150,000 ล้านบาท และชาวนาได้เงินพอๆ กับปีนี้ แต่ ธปท. กลับไม่มีความเห็น ไม่มีหนังสือเปิดผนึกโต้แย้งว่าไม่ควรทำ “อันนี้เป็นเรื่องที่ผมค่อนข้างจะแปลกใจ เรื่องแบบเดียวกันเลย ตัวหนังสือแทบจะลอกกันมาเลย แต่ปีที่แล้วไม่ท้วงติง ไม่แสดงความเห็น ไม่ปรากฏในรายงานการประชุม แต่ปีนี้และเป็นข่าวด้วย” พร้อมฝากทิ้งท้ายว่า เรื่องนี้เป็รนนโยบายทางการคลัง เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะดูแลชีวิตความเป็นอยู่ รายได้ทางเศรษฐกิจของพี่น้องชาวนา ขณะเดียวกัน น้อมรับฟังความเห็น ธปท. แต่บทบาทหน้าที่ต่างกัน ยืนยันว่ารัฐบาลพิจารณาอย่างถี่ถ้วน และเรื่องนี้ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่มีข้อมูลแม่นยำกว่าเป็นผู้พิจารณาและตัดสินใจน่าจะดีกว่า.