คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้บุคคลสองคน ไม่ว่าเป็นเพศใดทำการหมั้นหมายและสมรสกันได้ พร้อมให้แก้คำว่า “ชาย” “หญิง” และ “สามีภรรยา” เป็น “บุคคล” “ผู้หมั้น” “ผู้รับหมั้น” และ “คู่สมรส”
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รักเพศเดียวกัน ซึ่งแตกต่างไปจากสภาพสังคมในปัจจุบันที่คู่รักเพศเดียวกันอยู่ร่วมกันจำนวนมาก โดยขาดเครื่องมือทางกฎหมายในการจัดการความสัมพันธ์ทางครอบครัว ส่งผลให้เกิดปัญหาครอบครัวหลากหลายทางเพศหลายประการ ครม. จึงมีมติแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอมา เพื่อให้บุคคลสองคน ไม่ว่าเป็นเพศใดทำการหมั้นหมายและสมรสกันได้ รวมทั้งจะแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติอื่นๆ เช่นแก้คำว่า “ชาย” “หญิง” “สามี” “ภรรยา” และ “สามีภรรยา” เป็น “บุคคล” “ผู้หมั้น” “ผู้รับหมั้น” และ “คู่สมรส” เพื่อให้มีความหมายครอบคลุมคู่หมั้นและคู่สมรสไม่ว่าเพศใด และเพิ่มเหตุเรียกค่าทดแทน และเหตุฟ้องหย่าให้ครอบคลุมกรณีคู่สมรสฝ่ายหนึ่งไปมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นไม่ว่าเพศใด เพื่อให้บุคคลนั้นมีสิทธิและหน้าที่และสถานะทางครอบครัว เท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายหญิง
...
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ เคยมีการเสนอ พ.ร.บ.คู่ชีวิต เข้าสู่สภาฯ แต่กฎหมายยังไม่เสร็จสิ้น เมื่อรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ แต่ไม่ได้ยืนยันกฎหมายภายในกรอบเวลา 60 วัน ทำให้กฎหมายตกไป รัฐบาลเห็นความสำคัญของสิทธิการอยู่ร่วมกันของความหลากหลายทางเพศ เราจึงปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้โดยรับฟังความคิดเห็นอย่างครบถ้วนแล้ว โดยหลังจากนี้จะส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจสอบหลักการร่างกฎหมาย ก่อนส่งกลับมายังคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอเข้าสู่สภาฯ ต่อไป