นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ข้ามทวีป โอดครวญว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรง รัฐบาลจึงต้องกู้เงินเร่งด่วน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาแจกประชาชน 50 ล้านคน คนละ 1 หมื่นบาท แต่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจไทยขณะนี้ไม่ถึงขั้นวิกฤติ เพียงแต่ไม่ฟู่ฟ่า

เหตุผลที่รัฐบาลอ้างว่า เศรษฐกิจวิกฤติ เนื่องจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพีขยายตัวเฉลี่ยแค่ 1.9% รัฐบาลมองแค่ตัวเลขจีดีพี แต่ไม่ได้ฟังเสียงวิจารณ์เรื่องความเหลื่อมล้ำ ที่ธนาคารสวิสเคยให้เกียรติยกย่องไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำที่สุดในโลกเมื่อปี 2564

นักวิชาการผู้เป็นตัวแทนสห ประชาชาติ ที่ทำงานด้านการพัฒนามนุษย์ ในประเทศไทย เขียนบทความระบุว่า กลุ่มผู้ร่ำรวยที่สุดในไทย 1% เป็นเจ้าของความร่ำรวยมากกว่าคนระดับล่าง 20% ถึง 2,500 เท่า มีคนเพียง 5% เป็นเจ้าของที่ดิน 80% ของประเทศ แต่มีคนถึง 75% ไม่มีที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ

แต่รัฐบาลไทยส่วนใหญ่ หรือแม้แต่คนไทยทั่วไปถือว่าความยากจนหรือความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องปกติ รัฐบาลไม่มีนโยบายแก้ไขความเหลื่อมล้ำ ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลบางคณะอ้างว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ดีที่สุดคือ ให้คนที่ร่ำรวยช่วยเหลือคนจน เปรียบเทียบกับการกักเก็บน้ำให้เต็มเขื่อน

เมื่อน้ำเต็มเขื่อน จะไหลทะลักลงมาสู่พื้นที่ใต้เขื่อน ทำให้ประชาชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ใต้เขื่อนพลอยได้รับอานิสงส์จากน้ำล้นเขื่อน ชาวไร่ชาวนาที่อยู่ใต้เขื่อนมีน้ำทำนาทำไร่ หรือปลูกพืชผลต่างๆ แต่น้ำที่ล้นเขื่อนที่ไหลทะลักลงสู่พื้นที่ใต้เขื่อน เมื่อปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่สร้างความเสียหายร้ายแรง

ถ้าน้ำล้นเขื่อน หรือน้ำที่หน่วยงาน ของรัฐปล่อยลงมาท่วมเฉพาะที่นาประชาชน ที่อยู่ใต้เขื่อน อาจถือเป็นเรื่องปกติ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นประจำปี แต่เมื่อปี 2554 น้ำจากเขื่อนไหลทะลักเข้าท่วมกรุงเทพฯ กลายเป็นมหาอุทกภัย กลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ จากภัยธรรมชาติและการบริหารที่ผิดพลาด

...

สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลไม่สนใจในเรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะถือว่าเป็นเรื่องปกติของสังคมทุนนิยมและคณะบุคคลที่เป็นผู้ปกครองประเทศ เป็น สส. หรือ สว. หรือคณะรัฐมนตรี ส่วนใหญ่เป็นผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจดี ส่วนหนึ่งเป็นระดับเศรษฐี และเสพติดนโยบายลดแลกแจกแถม ที่พิสูจน์ชัดเจนว่าไม่สามารถแก้ความเหลื่อมล้ำ.

คลิกอ่านคอลัมน์ "บทบรรณาธิการ" เพิ่มเติม