นายกฯเศรษฐา ทวีสิน บินไปร่วม การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก 2023 ที่นครซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ นานหนึ่งสัปดาห์ ได้มีโอกาสเจรจาใกล้ชิดกับผู้นำเอเปกยี่สิบกว่าประเทศ ได้เจรจากับผู้บริหาร บริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯมากมาย เพื่อชักชวนให้มาลงทุนในไทย และที่สำคัญที่สุด นายกฯเศรษฐา โพสต์ลงสื่อโซเชียล X ด้วยตัวเองก็คือ ได้ มีโอกาสถ่ายภาพเซลฟี่กับ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด ซึ่งไม่เคยมีผู้นำประเทศไหนเคยทำมาก่อน นายกฯเศรษฐา ลัดฟ้ากลับมาถึงไทยเรียบร้อยแล้วเมื่อเช้าวันอาทิตย์ พร้อมด้วยสัญญาการลงทุนจาก 3 บริษัทเทคยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ อะเมซอน กูเกิล และ ไมโครซอฟท์ ด้วยมูลค่าการลงทุนเกือบ 4 แสนล้านบาท
เรียกว่าประสบความสำเร็จอย่างเป็นกอบเป็นกำกลับมาเลยทีเดียว
คุณชัย วัชรงค์ โฆษกสำนักนายกฯ แถลงข้ามโลกว่า ความสำเร็จในการเดินทางเยือนสหรัฐฯของนายกฯครั้งนี้ที่สำคัญคือ จะก่อให้เกิดการลงทุนในไทยจาก 3 บริษัทชั้นนำระดับโลก คือ Microsoft, Google และ AWS (Amazon Web Services) ด้วยมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาทต่อบริษัท ซึ่งเป็นเพียงช่วงเริ่มต้นของความสำเร็จ รัฐบาลจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการเชิญชวนบริษัทชั้นนำของโลกมาลงทุนในไทย
Google ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่ของโลก มีแผนที่จะลงทุนสร้าง Data Center เพิ่มเติมในอาเซียน และ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในทางเลือกสำคัญที่กูเกิลจะพิจารณาลงทุนสร้างดาต้าเซ็นเตอร์เป็นประเทศที่ 11 และเป็นแห่งที่ 4 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เบื้องต้นบริษัทได้เซ็น
เอ็มโอยูกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล และพัฒนาการให้บริการของรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
...
คุณ Ruth Porat ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงินของ Alphabet บริษัทแม่ของ Google กล่าวว่า การร่วมมือกับรัฐบาลไทยครั้งนี้ มีความ มุ่งหมายที่จะเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่ใช้ระบบคลาวด์เป็นหลัก เพื่อตอกยํ้าพันธกิจของกูเกิลประเทศไทย ภายใต้แนวคิด Leave no Thai Behind ไม่ทิ้งคนไทยคนไหนไว้ข้างหลัง ภายใต้ความร่วมมือนี้ กูเกิลจะร่วมกับรัฐบาลไทยพัฒนาและขยายการใช้เทคโนโลยี AI ด้วย Google Cloud สรุปก็คือ กูเกิลจะขายระบบคลาวด์ของกูเกิลให้กับรัฐบาลไทยเพิ่มขึ้น
ไมโครซอฟท์ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านซอฟต์แวร์ ก็ระบุว่า อยู่ระหว่างการศึกษาวางแผนลงทุนด้าน Data Center ขนาดใหญ่ในไทย ได้ลงนามเอ็มโอยูกับรัฐบาลไทยในการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงการให้บริการ สาธารณะด้วยเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้าน
ดิจิทัลของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ
Amazon Web Service (AWS) ก็ระบุว่า กำลังจะสร้าง AWS Asia Pacific (Bangkok) Region ในไทย ด้วยงบประมาณกว่า 190,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 15 ปี นายกรัฐมนตรีไทยได้ตอกยํ้าและสร้างความมั่นใจกับ AWS ว่า การลงทุนของ AWS ครั้งนี้ รัฐบาล ไทยพร้อมให้การสนับสนุน เพื่อให้เกิดการใช้ Cloud ให้ครบในทุกภาคส่วนของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาบริการดิจิทัลให้แก่ประชาชน
เมื่อดูข้อมูลการลงทุนของ 3 บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่สหรัฐฯแล้ว ค่ายอะเมซอน ดูจะมีตัวเลขที่ชัดเจนที่สุด จะลงทุน 190,000 ล้านบาทในระยะเวลา 15 ปี เฉลี่ยออกมาปีละ 12,600 กว่าล้านบาท ก็เป็นการลงทุนค้าขายปกติที่ไม่มีอะไรพิเศษ ส่วน ค่ายกูเกิล และ ค่ายไมโครซอฟท์ ดูเหมือนต้องการขายระบบ Cloud ให้กับรัฐบาลไทยมากกว่าจะเน้นการลงทุน
ก็ต้องดูกันต่อไป 3 บริษัทเทคยักษ์ใหญ่สหรัฐฯจะลงทุนจริงหรือไม่? รัฐบาลที่ผ่านมาก็มีบริษัทเทคยักษ์ใหญ่บอกจะมาลงทุนที่ EEC มากมาย แต่ยังไม่เห็นมีใครมาลงทุนจริงจังสักราย นอกจาก ปตท. ของไทยเอง ล่าสุดก็มีบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าจีนที่มาลงทุนจริงจัง.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม