การเดินทางไปเจรจาดึง นักลงทุนขนาดยักษ์ เข้ามาลงทุนในประเทศไทยของ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน สิ่งที่จะต้องเตรียมพร้อมคือการปรับตัวของโครงสร้างการลงทุนในประเทศ จากเงินทุนที่จะไหลเข้ามานับแสนล้าน ปัญหาใหญ่คือความพร้อมและความยั่งยืน ไม่ใช่ทำกันแบบไฟไหม้ฟาง

พื้นที่การลงทุนที่สำคัญที่สุดก็คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และ นิคมอุตสาหกรรม ต่างๆ มีหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานที่จะต้องตั้งรับให้ดี นอกจาก บีโอไอ แล้วก็มี การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. ตามเป้าหมายอุตสาหกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม CSR ตามมาตรฐาน ISO 26000 ที่จะต้องมีการทำรายงานความยั่งยืนขององค์กร เปิดเผยแก่สาธารณะภายนอกอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2561 ตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร.

นอกจากนี้ กนอ. ยังต้องกำหนดวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมครบวงจรระดับภูมิภาค ด้วยนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน ในปี 2565 กนอ.เริ่มจัดทำโครงการเพื่อพัฒนาเกณฑ์ผลสัมฤทธิ์ทางสังคมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน สะท้อนการเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาของนิคมอุตสาหกรรม และโรงงานอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวสู่ระดับสากล บริหารความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี จากมาตรการทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

มิติแรก การพัฒนากระบวนการดำเนินธุรกิจ โดยการนำเครื่องมือเกณฑ์การประเมินการดำเนินธุรกิจร่วมกับมาตรฐาน BCORP ใน 5 ด้านธรรมาภิบาล พนักงาน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และลูกค้าผู้บริโภค มิติที่สอง การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางสังคม โดยกระบวนการการบริหารจัดการการลงทุน และดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม ร่วมกับกลุ่มมาตรฐาน ที่มุ่งสะท้อนเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยอมรับทั่วโลก

...

นอกจากการประเมินผลแล้ว ยังมีการมอบรางวัลเพื่อเป็น มาตรฐานทางอุตสาหกรรม ให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่สะท้อน ผลสัมฤทธิ์ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในปี 2566 กนอ.ดำเนินโครงการยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสู่เกณฑ์ผลสัมฤทธิ์ทางสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน สร้างความเป็นภาคี การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐานสากล จัดทำและเปิดเผยข้อมูล ส่งเสริมภาพลักษณ์และโอกาสในการดำเนินธุรกิจสีเขียว มีการยกระดับและปรับปรุง Impact ขององค์กร ทั้งในมิติของธุรกิจและสังคม

โครงการ ISB เป็นโครงการที่ กนอ.ส่งสัญญาณให้ภาคอุตสาหกรรมไทย สะท้อนผลสัมฤทธิ์ที่สอดคล้องไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตอบโจทย์การเติบโตของเศรษฐกิจควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งสังคมและระบบนิเวศอย่างสมดุล ที่จะดำเนินการไปพร้อมกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในการลงทุนของนักลงทุน เพื่อเป็นการจูงใจให้เข้ามาลงทุนมากขึ้น จะว่าไปแล้วโครงสร้างพื้นฐานบ้านเราพร้อมกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก ไม่มีปัญหาไฟฟ้าติดๆดับๆ

เพียงแต่เราต้องยกระดับโครงสร้างภายในให้พร้อมที่จะรับมือกับการแข่งขันให้ได้เท่านั้น.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ "คาบลูกคาบดอก" เพิ่มเติม