“เศรษฐา” กลับถึงไทยแล้ว ฟิตร่วมสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศต่อทันที ขอบคุณ “เจ้าสัวธนินท์” สนับสนุนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่น ยัน พร้อมรับฟังทุกความเห็นต่าง ย้ำ สำหรับตัวเอง เศรษฐกิจวิกฤติแล้ว
เมื่อเวลา 07.40 น. วันที่ 19 พ.ย. 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ ภายหลังจากเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 30 ที่นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 12-19 พ.ย. โดยภายหลังจากถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายเศรษฐาได้เดินทางต่อไปยังศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ถนนเทพรัตน (กม.1) เขตบางนา กทม. เพื่อกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 41 ในโอกาสครอบรอบ 90 ปี หอการค้าไทยทันที
จากนั้นเวลา 08.20 น. ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค นายเศรษฐา ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ สนับสนุนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท แต่ขณะเดียวกัน ยังมีเสียงต่อต้านการกู้เงินมาใช้ในโครงการ ว่า ครับ ก็รับฟังครับ พร้อมรับฟังความเห็นต่าง และขอบคุณเจ้าสัวธนินท์ ที่ให้การสนับสนุน ต้องไปดูว่าความจริงแล้ว ประเทศเราต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยนโยบายหลักของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เราได้ทำมาแล้ว เรื่องการสนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลในระยะสั้นและระยะยาวด้วย รวมทั้งการย้ายถิ่นฐานการผลิตของบริษัทต่างๆ กว่าที่จะมีการตอกเสาเข็มและมีสินค้าออกไปก็ต้องใช้ระยะเวลาหลายปี และ 9 ปีที่ผ่านมาการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ที่เพียง 1.8% แต่เราต้องการวิธีใหม่ๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
เมื่อถามย้ำว่า แต่ยังมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับการกู้เงินมาใช้ในโครงการ เพราะมองว่าเศรษฐกิจของเรายังสามารถที่จะเจริญเติบโตได้อยู่ ไม่ได้อยู่ในช่วงวิกฤติถึงขนาดจำเป็นต้องกู้เงินมา นายเศรษฐา กล่าวว่า รับฟังครับ รับทราบ และอย่างที่ตนพูดมาตลอดเวลาว่า มันมีประเด็นอยู่ประเด็นเดียวคือ วิกฤติและจำเป็นหรือเปล่า แต่ตนถือว่าวิกฤติ แต่ถ้าท่านบอกว่า วิกฤติคือจีดีพีต้องติดลบ อันนั้นก็เป็นวิกฤติ แต่ถ้ามองดูว่า 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเราโตแค่เพียง 1.8% คู่แข่งของเราก็ยังเป็นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ก็ต้องไปดูว่าเขาขยายตัวเท่าไร ท่านก็ไปดูตัวเลขย้อนหลังออกมาก็แล้วกัน ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างไรบ้าง ค่าแรงขึ้นไม่ได้ ค่าแรงขั้นต่ำก็ขึ้นไม่ได้ เพราะธุรกิจเรารายได้ไม่ขยายตัวขนาดนั้น รายได้ขั้นต่ำอยู่ที่ 300-337 บาท ต่ำมากนะครับ แต่ผมเองก็เห็นใจผู้ประกอบการ ทั้งรายกลาง และรายย่อยว่าไม่สามารถขึ้นค่าแรงได้ เพราะมีหลายๆ เหตุผล กว่า FTA จะเจรจาเสร็จ ใช้เวลา 1-2 ปี และกว่าเขาจะมาตั้งโรงงานได้ต้องใช้เวลาพอสมควร กว่านโยบายหลายๆ นโยบายจะประสบความสำเร็จได้ก็ต้องใช้เวลา และระหว่างนี้เราจะทำอย่างไรกันล่ะ ก็ต้องฝากไว้ด้วยนะครับ
...