ไม่ขอเถียงกับใครว่าวิกฤติไม่วิกฤติ จำเป็นไม่จำเป็น แต่ผมมองเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็น มองเห็นว่าเป็นเรื่องวิกฤติก็แค่นั้น และประชาชนจะเป็นคนตัดสิน

เสียงเข้มๆ ขึงขังของ “นายกฯนิด” เศรษฐา ทวีสิน นายกฯและ รมว.คลัง ยืนยันรัฐบาลเดินหน้าแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้ประชาชน เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายและกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซึมยาวมานานนับ 10 ปี

โดยปรับแก้รายละเอียดนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ ตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่แถลงไปล่าสุด ผู้มีสิทธิได้รับเงิน ต้องมีเพดานเงินเดือนไม่เกิน 70,000 บาท และมีเงินเก็บไม่เกิน 500,000 บาท

ประเด็นนี้ไม่มีใครติดใจเท่าไหร่ เพราะคนรายได้เกินเกณฑ์นี้คงไม่จำเป็นต้องรับเงินหมื่น

ตัดข้อครหา ปัญหากฎหมาย แจกทำไมคนรวย

เงื่อนไขใหม่ที่ออกจากปาก “นายกฯนิด” ไม่ได้ทำให้ชาวบ้านที่เฝ้ารอเงินรัฐบาลผิดหวัง เสียกำลังใจ เพราะทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม แต่ความกังวลใจมันไปอยู่ที่ว่า สุดท้ายแล้วจะได้เงินหรือเปล่า

ตลอดเส้นทางของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เต็มไปด้วยขวากหนามแรงเสียดทาน เสียงติติง

ฝ่ายค้าน สว. นักวิชาการ องค์กรอิสระ ดาหน้ากันออกมาด้อยค่าโครงการประชานิยมสุดโต่ง

แต่รัฐบาลเพื่อไทยไม่มีทางเลือก ไร้ทางถอย เดินหน้าฝ่ากระแสมาจนถึงตอนนี้ และพยายามทำนโยบายเต็มสูบตามเดิม ไม่ลดทอน ตัดงบประมาณตามเสียงข่มขู่ ทักท้วง

ถึงยังไงเรื่องนี้ก็น่าชื่นชม พูดจริงทำจริง ไม่หาเสียงขายฝันลมๆแล้งๆ

แต่สิ่งที่พูดไม่ชัด ตอบไม่เคยเคลียร์ เป็นข้อสงสัยเรื่อยมาคือ จะเอาเงินจากไหนมาแจก สุดท้ายก็เฉลยว่าต้องกู้ตามคาด ด้วยการออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท

“เดอะต๋อม” ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ค้านอย่างมีวุฒิภาวะ บอกไม่ได้ขัดขวางนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต แต่วิจารณ์ด้วยความเป็นห่วงจะไม่สำเร็จ ไม่ตอบโจทย์เป้าหมายในทางนโยบายได้จริง

...

โดยเฉพาะการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท รัฐบาลอาจสะดุดขาตัวเอง ดิจิทัลวอลเล็ตอาจถูกล้มโดยขั้นตอนของกฤษฎีกาเลยด้วยซ้ำ หากรัฐบาลจะผลักดันนโยบายต่อ ต้องคิดแผนสำรองไว้

ชัดเจน น่าสนใจ ตรงกับความห่วงใยของใครหลายคนว่า ดิจิทัลวอลเล็ตอาจ “แท้งก่อนคลอด”

ชัยธวัช ตุลาธน
ชัยธวัช ตุลาธน

ดูไทม์ไลน์แล้วต้องฝ่าด่านอรหันต์อีกมากมายเสี่ยงตายทั้งกลม

อันดับแรกเลยคือ คณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะที่ปรึกษากฎหมายรัฐบาล ถ้ามีความเห็นออกมาในเชิงทัดทานไม่เห็นด้วย ก็เหมือนจิ้งจกร้องทักตั้งแต่ก้าวขาออกจากบ้าน

แม้รัฐบาลจะขอข้ามไปฟังไว้แต่ไม่ทำตามก็ได้ แต่จะเป็นเหตุผลที่ถูกหยิบมาใช้ทิ่มแทง ขวางทาง

ด่านต่อไปคือเวทีสภา ลำพังเสียงข้างมากของรัฐบาลกว่า 300 เสียง ไม่ยากอะไรที่จะยกมือให้ผ่านกันไปง่ายๆ

แต่อย่าไว้ใจเกมการเมือง ที่มักมีปัจจัยแทรกซ้อนทำให้เกิดอุบัติเหตุอยู่เสมอ

ดังนั้นต้องผนึกกำลังจับมือพรรคร่วมรัฐบาลให้แน่น

ป้องกันปัญหาคว่ำ พ.ร.บ.กู้เงิน หักหน้าหักหลังกัน เพราะนั่นหมายความถึงความวอดวาย กฎหมายการเงินไม่ผ่านสภา นายกฯต้องรับผิดชอบ ด้วยการลาออก หรือไม่ก็ยุบสภา

ถามว่าถ้าเลือกตั้งกันวันนี้ พรุ่งนี้พร้อมไหม คำตอบคงเหมือนกันคือ ไม่พร้อม ด้อมส้มยังหนาแน่น

หรือเอาแค่สลายตัวมาจับขั้วรัฐบาลกันใหม่ ก็ไม่มั่นใจว่าจะเป็นผู้ถูกเลือกอีกครั้งหรือเปล่า

ดังนั้นน่าจะผ่านไปด่านต่อไป สว.ของแสลงเพื่อไทย ค้านตะบันฟาดฟันกันเรื่อยมา ถ้าไม่ผ่านสภาสูงจริงๆ ก็ต้องประชุมร่วมวัดพลังกันทั้ง 2 สภา สุดท้ายแม้ผ่านได้ก็คงทุลักทุเล ต้องวิ่งล็อบบี้กันลิ้นห้อย

แต่ด่านหินที่มีโอกาสโดนน็อก จับแพ้ฟาวล์ แฟนคลับกองเชียร์หวาดหวั่นที่สุด นั่นคือองค์กรอิสระ

ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดดิจิทัลวอลเล็ตและ พ.ร.บ.กู้เงินของรัฐบาล จะได้ไปต่อหรือไม่ โดยมี ป.ป.ช. เป็นหน่วยชี้เป้าล่วงหน้า และปฏิบัติการเชิงรุกไปแล้ว

ภาพจำในอดีตลอยมาทันที พ.ร.ก.กู้เงิน 2 แสนล้าน สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ถูกศาลรัฐธรรมนูญปัดตกไม่เห็นด้วยกับเหตุผลจำเป็นเร่งด่วนตามที่อ้างมา

ครั้งนี้เหตุผลก็คล้ายกัน และยิ่งรัฐบาลออกเป็น พ.ร.บ. ไม่ใช่ พ.ร.ก. เพื่อความปลอดภัย แต่มันทำให้น้ำหนักความเร่งด่วนหายไปเยอะเหมือนกัน

ความจำเป็น วิกฤติเศรษฐกิจ ตามความเห็นของ “นายกฯนิด” คือสิ่งที่น่าใคร่ครวญพิจารณา

วันนี้ยังคงเป็นมุมมองที่เห็นต่าง แต่ผู้นำเชื่อเช่นนั้นจริงๆ.

ทีมข่าวการเมือง

คลิกอ่านคอลัมน์ “วิเคราะห์การเมือง” เพิ่มเติม