"แพทองธาร" มุ่งมั่นเดินหน้าสร้าง Soft Power ยกระดับชีวิตคนไทย ผลักดันการพัฒนาศักยภาพ "คน-อุตสาหกรรม-นโยบายต่างประเทศเชิงรุก" ส่งออกวัฒนธรรมไทย สู่สายตาชาวโลก
วันที่ 15 พ.ย. 2566 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวในการบรรยายพิเศษ "Soft Power The Great Challenger ในการสัมมนา THAILAND 2024 : beyond RED OCEAN เส้นทางใหม่ เป้าหมายใหม่ ที่มั่นคง" จัดขึ้นโดย ประชาชาติธุรกิจและประชาชาติธุรกิจออนไลน์ โดยมีนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายรัฐมนตรี นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ รวมถึงนักธุรกิจและภาคเอกชนชั้นนำและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟัง
นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาคำว่า "Soft Power" คือหนึ่งในคำที่สังคมไทยให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งคำนิยามและรูปแบบ ซึ่งวันนี้คนเข้าใจในภาพรวมว่าไม่ใช่สินค้าแต่เป็นการพยายามสร้างสินค้าที่มีอยู่แล้วให้เป็นพลัง "Soft Power"
...
"Soft Power" คือ อำนาจในการทำให้ประเทศหนึ่งหรือสังคมหนึ่งพร้อมโอบรับวัฒนธรรมอื่นๆ ให้เข้ามา โดยที่ไม่ได้มีการบังคับ ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ "Apple" ซึ่งเราสมัครใจซื้อไอโฟนที่ออกมาทุกรุ่น โดยไม่มีการบีบบังคับ หรืออย่างเครื่องสำอาง ลิปสติก มีแบรนด์ต่างๆ มากมาย 4U2, Naree, loreal, Mac, GUERLAIN, Tom ford ทั้งที่เนื้อสัมผัสและสีก็ใกล้เคียงกัน แต่เราก็จะเลือกซื้อยี่ห้อที่ใช้อยู่ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของความไว้ใจในแบรนด์ คุณค่าในแบรนด์ที่ตรงกับเรา แบรนด์รอยัลตี้จึงเกิดขึ้น และเป็นธรรมดาที่แบรนด์เหล่านี้จะสร้างกลยุทธ์ นวัตกรรม สตอรี่เพื่อให้เราเข้าถึงและโอบรับสิ่งต่างๆ ที่แบรนด์เสนอ นี่ก็คือ Soft Power ที่มาในแบบของแบรนด์
ถ้าพูดถึงประเทศต่างๆ ที่เรานึกถึง หากเป็นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เราจะพูดในเรื่องของเทคโนโลยี ซึ่งประเทศญี่ปุ่นจะได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก แต่ในช่วง 10 ปีหลังมานี้มีทั้งเกาหลีและจีน เข้ามาอยู่ในใจเรามากขึ้น เพราะตลอดเวลา 10 กว่าปีมานี้ ทั้งเกาหลีและจีน ได้โปรโมตสิ่งต่างๆ ในรูปแบบวัฒนธรรมผ่านทางภาพยนตร์ สถานที่ท่องเที่ยว ในโซเชียลมีเดียต่างๆ ทำให้เราได้เห็นและโอบรับวัฒนธรรมนั้นโดยไม่รู้ตัว ทำให้สินค้าของเขามาอยู่ในใจเรา
หรืออย่างเรื่องอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อาทิ หนังอินเดีย หากคิดถึงภาพจำเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว คนจะนึกถึงการร้องเพลง การเต้น บางอย่างเข้าไม่ถึง แต่ขณะนี้อินเดียมี Bollywood ที่พัฒนาไปไกลมาก ตัวเลขล่าสุด 1 ใน 3 ของภาพยนตร์ที่เข้าฉายในออสเตรเลียคือหนังอินเดีย ซึ่งเราจะเห็นได้เลยว่ามีการปรับเปลี่ยนอย่างมากและรัฐบาลของอินเดียก็ลงทุนอย่างมากเพื่อจัด Festival ภาพยนตร์ ในออสเตรเลีย ให้หนังอินเดียได้ฉายและทั่วโลกได้เห็นหนังอินเดียสนุกจริงและเข้าถึงได้มากขึ้น หนังอินเดียจึงเป็นหนังเรื่องโปรดสำหรับหลายคนทั่วโลก
จากที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดจึงชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ว่างของ Soft Power ยังมีอยู่เสมอ สามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้ แค่เราเริ่มแล้วต้องไม่หยุด
โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลคือ เราจะทำอย่างไรให้ต้นทุนวัฒนธรรมทำที่เรามี สร้าง Soft Power ที่นำมาซึ่งเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และโอกาสให้ประชาชนได้อย่างไร
การจะสร้าง Soft Power จะต้องมี 3 องค์ประกอบหลัก ซึ่งตามทฤษฎีของโจเซฟ ไนล์ ที่ได้พูดไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว คือ
1. เราต้องมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ดี และต้องมี Creative, innovation และ Story
2. คุณค่าทางการเมือง เป็นสิ่งจำเป็นมากๆ กฎหมายบางฉบับใช้มาแล้ว 20-30 ปีไม่สามารถเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันได้ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อปลดล็อกเสรีภาพในการสร้างสรรค์งาน
3. นโยบายต่างประเทศ จะช่วยส่งออกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ไปในต่างประเทศ
หากมองย้อนกลับไป เมื่อ 20 ปีที่แล้ว รัฐบาลไทยรักไทยเคยสร้างนโยบายที่สร้างให้ต้นทุนทางวัฒนธรรมของเราสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ เช่น นโยบาย OTOP ที่สนับสนุนการเติบโตของสินค้าที่มาจากวัฒนธรรม รวบรวมทำแบรนด์ดิ้งของสินค้าทั่วประเทศ แล้วโปรโมตออกไปในต่างประเทศให้คนไทยเกิดความภาคภูมิใจที่สินค้าของเขาได้ประจักษ์ในสายตาชาวโลก
TCDC หรือ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ที่มีตัวอย่างวัตถุดิบต่างๆ ให้ผู้ออกแบบได้เห็นได้สัมผัส เพื่อปลดล็อกศักยภาพในการสร้างสรรค์ รวมถึงยังมีห้องแล็บสำหรับทดลองการออกแบบ หรือกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น ที่จุดพลุใหญ่ให้วงการแฟชั่นไทย ให้ทั่วโลกหันมาสนใจ หรือโครงการใหญ่อย่าง ครัวไทยสู่ครัวโลกที่สร้างเชฟอาหารไทยส่งออกไปทั่วโลก ส่งผลให้เกิดร้านอาหารไทยเพิ่มขึ้นมากมายในต่างประเทศ
ทุกนโยบายที่กล่าวมา จะเป็นการพัฒนาต้นทุนทางวัฒนธรรม แต่เราได้เรียนรู้จากนโยบายที่เคยทำไว้ คือ การจะสร้าง Soft Power จะต้องทำทั้งระบบ สร้างกลไกพัฒนายุทธศาสตร์ Soft Power พัฒนาทั้งอุตสาหกรรมและตัวคน
ส่วนแรก - คือการพัฒนาอุตสาหกรรม เราจะตั้งหน่วยงานที่มีชื่อว่า Thacca-Thailand Creative Content Agency ซึ่งจะเป็นกลไกสะท้อนเสียงจากภาคเอกชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบาย จะประกอบไปด้วยคณะอนุกรรมการทั้งหมด 12 คณะ ประกอบไปด้วย
1. แฟชั่น
2. หนังสือ
3. ภาพยนตร์
4. ละครและซีรีส์
5. เฟสติวัล
6. อาหาร
7. ออกแบบ
8. ท่องเที่ยว
9. เกม
10. ดนตรี
11. ศิลปะ
12. กีฬา
ในแต่ละอนุกรรมการจะขับเคลื่อนด้วยคนในอุตสาหกรรมทั้งหมด ที่อยู่กับงาน รู้ปัญหาจริง และมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมของตัวเองไปสู่เป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมหนังสือ ที่เราตั้งเป้าว่าหนังสือไทยจะได้ถูกแปลเป็นภาษาต่างประเทศโดยที่จะเริ่มที่งานหนังสือนานาชาติไทเป เดือนมีนาคมปีหน้า หรือวงการแฟชั่นก็จะมีการวางแผน การให้ความสำคัญกับ Net Zero การทำอุตสาหกรรมที่ไม่ทำร้ายโลกเป็นค่านิยมที่ได้รับการพูดถึงในต่างประเทศ อีกทั้งทุกวงการที่จะมีการสร้างสรรค์ที่แตกต่างกันออกไป
ซึ่งในยุทธศาสตร์ Soft Power เราจะรวมแผนในเรื่องการพัฒนา Thacca ด้วยการใช้ พ.ร.บ. ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนของการร่าง ซึ่งคิดว่าจะแล้วเสร็จสิ้นและนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรภายในกลางปีหน้า เพราะเราเรียนรู้แล้วว่าถ้าอยากให้มีการทำงานต่อเนื่อง ไม่ถูกพับเก็บไปเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล จึงจะต้องทำให้สิ่งนี้จะอยู่คู่กับคนไทยในการช่วยพัฒนาด้านต่างๆ ต่อไปได้ ถ้าจะมีการพับเก็บจะต้องมาจากเสียงของพี่น้องประชาชนเท่านั้น
ส่วนที่ 2 - คือการพัฒนาคนที่จะเข้ามาในอุตสาหกรรมด้วยนโยบาย "1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์-One Family One Soft Power หรือ OFOS" เรามีเป้าหมายสำคัญคือการยกระดับรายได้ทุกครอบครัวให้ถึง 200,000 บาทต่อปี ด้วยการพัฒนาศักยภาพอย่างน้อย 1 คนในแต่ละครอบครัว อาจมีรายได้สูงถึง 16,000 บาทต่อเดือนซึ่งจะพาทั้งครอบครัวหลุดพ้นจากเส้นความยากจนได้ทันที โดยการยกระดับครั้งนี้จะใช้กลไกของกองทุนหมู่บ้านเป็นช่องทางให้พี่น้องประชาชนทุกครอบครัวลงทะเบียน ตามความถนัดแต่ละด้าน
อย่างเช่นในวงอาหาร ที่จะสามารถผลักดันไปสู่โลกได้ โดยได้มีการทำโครงการ 'หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย' ตั้งเป้าว่าจะมีการอบรมถึง 70,000 คน โดยจะสร้างเชฟที่ได้มาตรฐานผ่านการควบคุมจากเชฟมืออาชีพ ในเรื่องของการกีฬาเรากำลังเริ่มวางแผนการยกระดับมวยไทย ให้มีหลักสูตรที่ชัดเจนได้มาตรฐานเกิดขึ้น ขณะนี้ในต่างประเทศมีค่ายมวยไทยมากกว่า 40,000 แห่งทั่วโลก ให้จัดให้มีหลักสูตรที่ชัดเจนและพร้อมที่จะไปอยู่ในแต่ละประเทศมากขึ้น
ส่วนที่ 3 - ที่สำคัญมากๆ คือจะต้องมีนโยบายต่างประเทศเชิงรุก ซึ่งขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์จะเป็นหน่วยงานสำคัญที่รับผิดชอบร่วมกับภาคเอกชน
การสร้าง Soft Power ไม่ใช่เรื่องที่มีหลักสูตรที่ชัดเจน ไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำทางลัดได้ ไม่ใช่เรื่องที่สามารถเร่งกระบวนการทุกอย่างได้ แต่วันนี้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้เริ่มแล้ว ภาคเอกชนก็เริ่มแล้ว ต่างประเทศก็พร้อมที่จะเปิดรับวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลก จึงอยากบอกว่าเราจะวางยุทธศาสตร์สร้าง Soft Power ให้ประเทศไทยกลับมามีตัวตนอีกครั้ง พร้อมที่จะยกระดับชีวิตพี่น้องประชาชนสู่สายตาชาวโลกอีกครั้ง