นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ประกาศด้วยความเชื่อมั่น ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ต้องผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแน่นอน เพราะโครงการเติมเงินในระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาลในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจซบเซามานับสิบปี เนื่อง จากผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพีโตแค่ 1.9%

รัฐบาลเน้นการเติบโตหรือขยายตัวของจีดีพีเป็นเครื่องวัดความรุ่งเรืองหรือถดถอยของเศรษฐกิจ ต่างจากผลการสำรวจความเห็นประชาชนกว่า 4 หมื่นคน ที่จัดทำร่วมกันระหว่างหนังสือพิมพ์มติชน และเดลินิวส์ ที่ถามประชาชนว่า อยากให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ หรือปากท้อง

ประชาชนส่วนใหญ่ 60% อยากให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ รศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ นักวิชาการที่ร่วมวิเคราะห์โพล กล่าวว่า ผลของโพลสะท้อนให้เห็นว่าประชาชน (ที่เข้าร่วม) เป็นพลเมืองที่มีความตื่นรู้มากขึ้น มีคนอยากให้แก้รัฐธรรมนูญ 21% อยากให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 20.4%

แสดงว่าประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมือง และมีความรู้สึกว่า “ประเทศนี้ไม่ยุติธรรม” ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมาย จึงขอเสนอให้รัฐบาลแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างมากขึ้น การให้ยาแก้ปวดไม่ใช่การแก้ปัญหา ต้อง “ผ่าตัด” เพราะมีปัญหาความสัมพันธ์ทางการผลิตที่เหลื่อมล้ำ และมีอำนาจผูกขาดต้องแก้ปัญหาการผูกขาด

นายกรัฐมนตรีเศรษฐาก็ยอมรับ ประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่ไม่ได้ชี้ว่าจะแก้ไขหรือไม่ และแก้ไขอย่างไร รัฐบาลนี้อาจเชื่อว่าการแจกเงินให้คนไทย 50 ถึง 56 ล้านคน คนละหมื่นบาทเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย และก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินหลายเท่า และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วย

แต่บางคนอาจมองว่าความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องปกติของสังคมทุนนิยมที่ถือคติ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธนาคารสวิตแห่งหนึ่งระบุว่า ผลการศึกษาพบว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก แต่รัฐบาลไทยในขณะนั้นปฏิเสธ แต่ยอมรับว่าประเทศไทยมีคนจนราว 14–15 ล้านคน

...

นั่นก็คือผู้ที่มีรายได้ต่ำที่ขึ้นทะเบียนรับบัตรสวัสดิการจากรัฐ ข้อมูลระบุว่าครอบครัวเกษตรกร ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคมมีถึง 11% ที่มีรายได้อยู่ใต้เส้นความยากจน แสดงว่ายากจนข้นแค้นแสนสาหัส ซึ่งไม่น่าจะมีมากมายในไทย เงินกู้แจกหมื่นบาทจะเป็นยาแก้ปวด แก้ความยากจนได้กี่วัน.

คลิกอ่านคอลัมน์ "บทบรรณาธิการ" เพิ่มเติม