"ธรรมนัส" รมว.เกษตรฯ หนุนใช้งานวิจัย พลิกโฉมเกษตรไทย สู่ตลาดสากล ด้วย 6 เมกะเทรนด์เปลี่ยนโลก ในงาน "เปลี่ยนวิถีเกษตรไทย ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม" โดย สวก. 20-21 พ.ย.นี้
วันที่ 13 พ.ย. 66 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เยี่ยมชมนิทรรศการตัวอย่างผลงานวิจัยเด่น 6 เมกะเทรนด์เปลี่ยนโลก จากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) พร้อมมอบนโยบายแนวทางการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการเกษตร ในงานแถลงข่าว การจัดงานประชุมวิชาการและจัดแสดงผลงานวิจัย และนวัตกรรมด้านการเกษตร “เปลี่ยนวิถีเกษตรไทย ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม” โดยมี นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร ร่วมแถลงข่าว พร้อมด้วยผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมงาน ณ ห้อง 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
...
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลมีเป้าหมาย ต้องการให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายใน 4 ปี สอดคล้องกับภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูง พัฒนาทรัพยากรเกษตรให้ยั่งยืน เพื่อให้ภาคเกษตรไทยคือผู้นำสินค้าเกษตรในตลาดโลก และหนึ่งในนโยบายที่ให้ความสำคัญ คือ การผลักดันส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรสร้าง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง เพื่อสร้างรายได้ สร้างโอกาสให้พี่น้องเกษตรกร รวมทั้งส่งเสริมการทำเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Go Green) ด้วย BCG/Carbon Credit เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งรากฐานที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของนโยบายต่างๆ นี้ คือองค์ความรู้ในการทำการเกษตร และการนำงานวิจัยและนวัตกรรม เข้ามาช่วยเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาภาคการเกษตร
ดังนั้น การที่ สวก. ได้กำหนดจัดงานประชุมวิชาการและจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรม ในโอกาสครบรอบ 20 ปี ของการก่อตั้งสำนักงานฯ จึงเป็นโอกาสอันดีที่ภาคเอกชนและผู้ประกอบการในภาคการเกษตร รวมทั้งกลุ่มเกษตรกร จะได้นำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดพัฒนา เพื่อช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตร เกิดการปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การทำเกษตรอัจฉริยะหรือเกษตรแม่นยำ ส่งผลให้เกิดการพลิกโฉมเกษตรไทย สู่การเติบโตอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น
ด้าน นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า งานวิจัยและนวัตกรรมด้านเกษตร ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาการทำเกษตรแบบดั้งเดิม ให้ไปสู่การทำ เกษตรกรรมแบบแม่นยำสูงหรือฟาร์มอัจฉริยะ อันจะมีส่วนช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต ได้ปริมาณผลผลิตสูงขึ้น มีคุณภาพ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยรวมให้กับประเทศ ทำให้ประเทศไทยยังคงเป็นฐานการผลิตสำคัญของผลผลิตทางการเกษตรของโลกต่อไป
ส่วน ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา สวก. พัฒนาและเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ มีผลงานที่ผลักดันไปสู่การใช้ประโยชน์แล้วกว่า 900 โครงการ มีผลการประเมินมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมจากการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ รวมกว่า 15,000 ล้านบาท การจัดงานในครั้งนี้ จึงได้นำงานวิจัยที่ตอบโจทย์การทำเกษตรกรรมยุคใหม่ที่มีประสิทธิภาพ มีการนำไปใช้จริงและมีการขยายผลแล้ว มาจัดแสดงเป็นไฮไลต์ของงานในโซน 20 ปี ของ สวก. และโซน 6 เมกะเทรนด์เปลี่ยนโลก ได้แก่ 1) Agritechnology 2) Coffee & Tea 3) Food & Beverage 4) BCG 5) Health & Beauty และ 6) Agricultural Sustainability
โดยการจัดงานครั้งนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดงาน ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 เวลา 15.00 น.
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีปาฐกถา และการบรรยายที่น่าสนใจ อาทิ การบรรยาย หัวข้อ “เกษตรไทยจะเปลี่ยนไปด้วยวิจัยและพัฒนา" โดยท่านปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การเสวนา หัวข้อ “ก้าวทันสภาวะอากาศที่เปลี่ยนไป กับอนาคตเกษตรไทยเปลี่ยนแปลง” และหัวข้อ “นวัตกรรมอาหารไทย สู่ความมั่นคงอาหารโลก”
นอกจากนี้ ก่อนเริ่มงานแถลงข่าว ยังมีการเสวนาเรื่อง “วิถีเกษตรไทย...เปลี่ยนได้ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม” ด้วย โดยมี นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร คุณศิริกร วิวรวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร และ ดร.ธีรวัฒน์ วงศ์วรทัต นายกสมาคมกาแฟและชาไทยร่วมเสวนา ทั้งนี้ สืบเนื่องจากในการจัดงานครั้งนี้ จะมีการมอบถ้วยรางวัลสำหรับผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ “สุดยอดกาแฟไทย ประจำปี 2566” ด้วย ซึ่งในปีนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จมาพระราชทานรางวัลชนะเลิศ รวมทั้งมีกิจกรรมเกี่ยวกับงานวิจัยเครื่องดื่มทั้งชา กาแฟ โกโก้ และอื่นๆ ที่กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมจัดงาน เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติฯ ในครั้งนี้ด้วย