ยังตั้งหลักอยู่ รออีก 1 ปี ถึงเห็นผลงานเป็นประจักษ์

โดยเฉพาะบรรดานโยบายเรือธงที่สังคมคาดหวังมาก อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง นายสติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ขยับมุมคิดหลังรัฐบาลเปิดแถลงผลงาน 60 วัน

โดยสรุปเปรี้ยงว่านับเป็นผลงานที่พอประคับประคองรัฐบาลเท่านั้น งานแบบนี้แถลงหรือไม่ ไม่สำคัญ

ที่ผ่านมารัฐบาลหลายชุดพยายามแสดงให้เห็นว่า ทำนั่นทำนี่เป็นร้อยเป็นพัน แต่ประชาชนกลับสัมผัสได้ว่ามันเป็นงานประจำของข้าราชการ ไม่มีบรรดา ครม. กลไกรัฐก็ทำอยู่แล้วแบบนี้มันเสียของ

สิ่งที่รัฐบาลควรทำให้สังคมเห็น คือถ้าไม่มีรัฐบาล นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ผลงานรัฐบาลชิ้นนี้ย่อมไม่เกิดขึ้น ตรงนี้ต่างหากที่ควรเร่งทำให้ประชาชนรู้สึกว่า เป็นผลงานของรัฐบาล

โดยเฉพาะในยุค “รัฐบาลสลายขั้ว-ข้ามขั้ว” จนเกิดขั้วใหม่ขึ้น ขั้วเดิมก็คงไม่ถึงขนาดสลายซะทีเดียว และยังปรากฏขั้วใหม่อีก

สายหัวก้าวหน้าประชาธิปไตยจ๋า มองพรรคเพื่อไทยยืนอยู่ฝ่ายนี้ ต้องการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ (รธน.) ทั้งฉบับ ไม่ใช่เฉพาะแค่แก้ไข รธน.เท่านั้น

รัฐบาลตกอยู่ในอาการกระยึกกระยัก

มันตอกย้ำความรู้สึกต่อประชาชนอีกขั้วหนึ่งว่า พรรคเพื่อไทยข้ามขั้วไปจริงๆ นับเป็นโจทย์อีกข้อหนึ่งที่สังคมได้เห็นในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมาของรัฐบาล

ทั้งที่แก้ทันทีได้ โดยเปิดประตูทำประชามติ ตามศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยไว้แล้ว แค่ตั้งคำถามประชามติ กำหนดวันทำประชามติ ยากอะไรแค่ตั้งคำถาม และกำหนดวันลงประชามติ ไม่ต้องศึกษารับฟังมากมายแบบนี้

รัฐบาลก็ชัดเจนขอเวลาอีกสักพักถึงแก้ ไม่อยากให้เร็วเกินไป เพราะยังมีอีกหลายโจทย์ที่ต้องพิสูจน์ฝีมือของตัวเองด้วย

...

ฉะนั้น 1 ปี ต้องเริ่มนับหนึ่งทำประชามติ

“นายกฯ พูดหลายครั้ง ตั้งรัฐบาลรอบนี้เทหมดหน้าตัก แต่มีประชาชนถามอยู่ทุกวัน เป็นหน้าตักของความเป็นตำนานที่สำเร็จในยุคไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทยใช่ไหม

ยอมเทหมดหน้าตัก ทำทุกวิถีทางกลับมาเป็นรัฐบาลในรอบเกือบ 10 ปี ท่ามกลางประชาชนคาดหวังความสำเร็จแบบที่เคยได้รับในยุคก่อนๆหน้านี้

โดยเฉพาะแบรนด์เพื่อไทย คือเศรษฐกิจ ตัวชูโรงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต สมัยไทยรักไทยเหมือนมีมาสเตอร์แพลนอยู่แล้ว เป็นรัฐบาลปุ๊บแปลงเป็นแอ็กชันแพลน

แต่วันนี้คิดใหญ่ ทำเป็นค่อยๆ ขยับไปทีละนิด เหมือนกลับมานั่งนับหนึ่งใหม่หลังเป็นรัฐบาล เหมือนไม่ใช่สไตล์เพื่อไทยที่ประชาชนคุ้นเคย”

เกิดจากกลไกรัฐที่รัฐบาลเดิมวางขุมกำลังไว้ยาวเกือบ 10 ปี รัฐบาลก้านยาวขยับอะไรดูติดขัดไปหมด นายสติธร บอกว่า มีส่วนเป็นไปได้ ในแง่การปฏิบัติที่ฝ่ายประจำไม่รับลูกทันที

วันนี้ยังไม่ถึงขั้นนั้น อยู่ที่ตัวนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตยังไม่ชัด ไปโทษกลไกระดับปฏิบัติที่ไม่ตอบสนองนโยบายก็ไม่ได้

และเอาเข้าจริงอาจไม่ใช่ปัญหาตรงนั้น เพราะเวลาพูดถึงรัฐบาลข้ามขั้ว เหมือนกับขั้วเดิมที่อยู่มาเกือบ 10 ปี ก็ยังอยู่ในอำนาจ

แค่เอาพรรคเพื่อไทยมาสวมเป็นหัว นั่งตำแหน่งนายกฯ และคุมกระทรวงบางส่วนในโควตาสัดส่วนพรรคเพื่อไทย และเปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทยผลักดันนโยบายเรือธงได้

แต่ต้องฟังเสียงฝ่ายค้ำบัลลังก์อำนาจให้ด้วย

“เมื่อสลายขั้วมารวมกันก็ต้องฟังกระแสของกองเชียร์ฝ่ายนี้ด้วย แน่นอนเขาไม่เลือกเพื่อไทย แต่จำเป็นต้องเปิดใจรับเพื่อไทยเข้ามา

เขากลัวฝั่งก้าวไกลมากกว่า เมื่อเพื่อไทยมาอยู่ข้างนี้ ก็ผลักอีกข้างไปอยู่อีกขั้วชัดเจน คราวนี้จะถล่ม หรือเชียร์เพื่อไทยแบบไม่ลืมหูลืมตาก็ไม่ได้

ปัญหาแบบนี้ทำให้การผลักดันนโยบายใหญ่ๆ ไม่รวดเร็วทันใจกองเชียร์ฐานของเพื่อไทย และ
ต้องปรับให้เข้ากับอีกฝ่ายที่ไม่เลือกเพื่อไทยยอมรับได้

เพราะเพื่อไทยเป็นรัฐบาลตลอดรอดฝั่ง ก็ต้องพึ่งพาเสียงในส่วนนี้ด้วย ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่”

รัฐบาลพิเศษสลายขั้วมาพร้อมกับนโยบายแก้รธน.และออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก้ รธน.รัฐบาลขยับให้เห็น แต่นิรโทษกรรมยังไม่ขยับ นายสติธร บอกว่า นิรโทษกรรมเป็นโจทย์เก่า คราวนั้นทำให้รัฐบาลล่ม โดยถูกรัฐประหาร

เมื่อตั้งรัฐบาลสลายขั้ว กลับมาคุยเรื่องนี้เลยได้หรือไม่ อาจไม่ง่ายขนาดนั้น เวลาพูดถึงมันไปกระทบอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในรอบ 4-5 ปีหลัง

นิรโทษกรรมรวมคดี 112 หรือไม่

เป็นโจทย์แรงอยากถามใส่รัฐบาล ถ้าพูดถึง 112 ย่อมกระทบต่อฐานเสียงที่ไม่เลือกพรรคเพื่อไทย และมีจุดยืนตรงข้ามพรรคก้าวไกล เขาอินมากกับ 112 แต่เขาเปิดรับพรรคเพื่อไทยที่ได้สลายขั้วมาอยู่ด้วยกันแล้ว

ขณะเดียวกันซอฟต์พาวเวอร์เป็นโจทย์ใหม่แห่งอนาคต ที่รัฐบาลถูกตั้งคำถามทุกวัน เป็นจุดขายชู น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้นำรุ่นต่อไปของพรรคเพื่อไทย

ช่วยทำให้รัฐบาลถูกตั้งความคาดหวังไว้สูง บนสถานการณ์เทหมดหน้าตัก ตัวซอฟต์พาวเวอร์เหมือนเป็นหน้าตักใหม่ที่เข้ามาเติม หวังรีเทิร์นกลับมาทั้งหมด แต่ไม่ง่าย

ต้องยอมรับรัฐบาลเพื่อไทยรอบนี้ไม่ค่อยราบรื่น ปัจจัยหนึ่งเกิดจากผลการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ที่ไม่ประสบผลสำเร็จ

ข้อหนึ่งที่สำคัญ เป็นโจทย์ที่ต้องคิดหนัก พรรคเพื่อไทยอาจปรับตัวไม่เข้ากับความคาดหวังใหม่ของกลุ่มคนที่เกิดไม่ทันตำนานพรรคไทยรักไทย ไม่มีความผูกพันกับความสำเร็จในยุคนั้น

เห็นได้จากนโยบายนี้ลงไป นอกจากไม่ได้แต้มเพิ่ม ยังโดนถล่มทุกวัน กลายเป็นบาดแผลให้ถูกโจมตีซ้ำเข้าไปอีก แค่หลุดคำว่า “ช็อกมินต์” ถูกตั้งคำถามด้านลบทันทีต่อหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

บรรดานโยบายเรือธงในรอบ 2 เดือนไม่ชัดเจน แล้วทำไมมองการประเมินผลงานรอบ 60 วัน เป็นแค่การประคับประคองของรัฐบาล นายสติธร บอกว่า บนอุปสรรคขวากหนามถึงขั้นมีการระบุว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยอยู่ไม่ได้นาน

เปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร คงถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจแน่ แต่ไม่ถึงขนาดนั้น เพราะพรรคเพื่อไทยเป็นความหวังเดียวของขั้วอำนาจหนึ่ง ที่รู้สึกว่าพรรคก้าวไกลเป็นภัยคุกคาม ถึงอย่างไรต้องเก็บพรรคเพื่อไทยไว้

ธรรมชาติรัฐบาลผสมควรอยู่ไม่ได้นาน ไม่มีเสียรภาพ มันจึงมีเสถียรภาพ และพรรคร่วมรัฐบาลไม่พร้อมเลือกตั้ง ฉะนั้นอภิปรายมายกมืออย่างไรก็ชนะ สถานการณ์มันเอื้อ

อีกคนคือคู่เทียบ ประชาชนคาดหวังสูงกับรัฐบาล เมื่อเทียบกับรัฐบาลชุดเดิมทำมาตรฐานไว้กลางๆมาก เป็นระดับรัฐบาลใหม่ แค่เติมอะไรลงไปกระตุ้นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ปีแรกรัฐบาลมีผลงานเชิงบวกด้านเศรษฐกิจแน่

กำลังบอกว่าประชาชนต้องการเห็นรัฐบาลโชว์ฝีมือผลักดันโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล นำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล รัฐบาลดิจิทัล เงินบาทดิจิทัล ตามนโยบายของพรรคเพื่อไทย นายสติธรบอกว่า ถูกต้อง

ถ้ารัฐบาลไม่ขยับขับเคลื่อน ตกอยู่ในสภาพยึกๆ ยักๆ เลือกตั้งคราวหน้าอีกขั้วหนึ่งมีโอกาสได้ สส.เพิ่มขึ้นแน่ เพราะประชาชนคาดหวังเห็นการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้าง

เช่น รัฐบาลดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัล เหมือนการกระตุ้นเศรษฐกิจแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต อย่าคิดแค่แจก ต้องวางโครงสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลให้ประเทศไทยด้วย

ทำได้พรรคเพื่อไทยย่อมมีโอกาสกลับมา

โดยพรรคก้าวไกลขยับเข้ามาใกล้มากขึ้น.

ทีมการเมือง

คลิกอ่านคอลัมน์ "วิเคราะห์การเมือง" เพิ่มเติม