ผู้ว่าฯ “ชัชชาติ” สั่งคุมเข้มรถบรรทุกน้ำหนักเกิน จ่อใช้เทคโนโลยีมาช่วย เล็งจัดงานลอยกระทงสะพานพระราม 8 และคลองโอ่งอ่าง ผสมผสานลอยกระทงออนไลน์ ลดปริมาณขยะและอันตรายต่อสัตว์น้ำ
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังร่วมประชุมในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร เขตคันนายาว ว่า เขตคันนายาว เป็นเขตขนาดปานกลาง มีประชากรกว่า 1 แสนคน ปัญหาหลักคือมีหมู่บ้านเก่าในพื้นที่จำนวนมาก และยังไม่ได้มอบพื้นที่ส่วนกลางให้เป็นสาธารณะ จึงมักมีปัญหาไฟไม่สว่าง ไม่ได้ลอกท่อ ซึ่ง กทม. ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการแก้ไขได้ ในเรื่องนี้ได้สั่งการให้ นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. เข้าไปดูแลและเร่งเข้าไปแก้ไขเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนแล้ว
ขณะเดียวกัน ยังพบว่ามีปัญหาอื่นๆ ในพื้นที่ด้วย อาทิ ปัญหาเส้นทางการจราจรบนถนนรามอินทรา เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ยังไม่คืนพื้นที่หลายจุด โดยถนนรามอินทราเป็นความรับผิดชอบดูแลของกรมทางหลวง และรถไฟฟ้าเป็นโครงการของกระทรวงคมนาคม ซึ่งได้หารือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงแนวทางการแก้ไขไปแล้ว ปัญหาน้ำท่วม พื้นที่เขตคันนายาวอยู่นอกคันกันน้ำตามแนวพระราชดำริ ซึ่งเขตดำเนินการติดตั้งปั๊มน้ำและทำเขื่อนแล้ว สำหรับการพัฒนาสวนสาธารณะ จะดำเนินการพัฒนาสวนสาธารณะที่มีอยู่ 3 สวน และเป็นบึงเชื่อมต่อไปถึงเขตบึงกุ่มเนื้อที่ 350 ไร่ ให้มีความต่อเนื่องและให้ประชาชนได้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
...
สั่งคุมเข้มรถบรรทุกน้ำหนักเกิน จ่อนำเทคโนโลยีเข้าช่วย
ส่วนปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน เขตคันนายาวมีไซต์งานก่อสร้าง 2 โครงการ ซึ่งโครงการที่ต้องมีการทำฐานราก จะต้องมีการขุดดิน และต้องมีรถขนดิน จึงได้มอบนโยบายให้เขตกำกับดูแลรถขนดินให้เข้มงวด ซึ่งรถขนดินเหล่านี้จะมีการเดินทางเชื่อมไปยังพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงด้วย
“ในช่วง 1 เดือนนี้ จะได้ประสานกรมทางหลวงเพื่อเรียกตรวจรถ โดยขอให้กรมทางหลวงส่งเจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์เครื่องชั่งมาสนับสนุน เนื่องจาก กทม. ไม่มีประสบการณ์ รวมทั้งในการจับต้องมีการบันทึกวิดีโอการจับกุมเพื่อเป็นหลักฐาน ซึ่งต้องมีเป็นหน่วยเฉพาะกิจในการดำเนินการ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต้องมีเครื่องแบบเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะ และมอบที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี) ให้ดูแล โดยเน้นย้ำให้โปร่งใส และต้องมีกระบวนการทำงานที่ชัดเจน แต่ภาพรวมสถานการณ์ในเรื่องนี้ดีขึ้น ต่อไป กทม. จะทำเรื่องนี้ให้ต่อเนื่อง อาจต้องมีการนำเทคโนโลยีมาช่วย โดยขอข้อมูล GPS จากกรมการขนส่งทางบกมาช่วยด้วย”
เตรียมมาตรการปลอดภัยช่วงเทศกาลลอยกระทง
ทางด้าน รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมมาตรการความปลอดภัยในช่วงเทศกาลลอยกระทงของกรุงเทพมหานคร ว่า มีการกำชับผู้อำนวยการเขตดูแลพื้นที่จัดงานลอยกระทงของเขต โดยโป๊ะ ท่าน้ำ ต้องทดสอบด้วยการขย่มน้ำหนัก หากเห็นว่าไม่ปลอดภัยให้ปิดการใช้งานทันที และหากมีการใช้พื้นที่จัดงานที่มีเครื่องเล่น ผู้อำนวยการเขตต้องตรวจให้เข้มงวด ระหว่างการจัดงานจะมีเจ้าหน้าที่เทศกิจและเจ้าหน้าที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตรวจพื้นที่ตลอดเวลา ร่วมกับการตั้งจุดหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน การอำนวยความสะดวกด้านการจราจร และการใช้กล้อง CCTV และการเฝ้าระวังดูในพื้นที่ที่มีคนหนาแน่น
“โคมลอย พลุ สำนักงานเขตได้ตรวจสอบต่อเนื่องอยู่แล้ว ในช่วงจัดงานต้องมีแผนเรื่องความปลอดภัยเข้มข้น ซึ่งผู้จัดงานจะต้องขออนุญาตกับ ผอ.เขตก่อน หากไม่มีจะไม่สามารถจัดได้”
เล็งจัดงานสะพานพระราม 8 - คลองโอ่งอ่าง ผสมรูปแบบดิจิทัล
จากนั้น นายชัชชาติ ระบุว่า ลอยกระทงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จะให้ นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนกรุงเทพมหานคร วิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของการลอยกระทงในระบบน้ำเปิดว่าเป็นอย่างไร แต่สุดท้ายแล้วการลอยกระทงดิจิทัลอาจจะเหมาะกับยุคสมัย และลดปัญหาเรื่องขยะ เรื่องอันตรายที่อาจเกิดกับสัตว์น้ำไปได้ กระทงประเภทที่ย่อยสลายได้หากมีปริมาณเกินไปก็อาจจะเน่าเสียได้เช่นกัน ขอให้ประชาชนได้เลือกใช้วิธีการที่เหมาะสม
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเสริมว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมหารือเรื่องของการจัดงานเทศกาลลอยกระทงกรุงเทพมหานครวานนี้ เบื้องต้น กรุงเทพมหานครจะจัดบริเวณสะพานพระราม 8 และคลองโอ่งอ่าง ซึ่งรูปแบบการจัดงานอยู่ระหว่างการหารือ และอาจนำการลอยกระทงรูปแบบดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์.