"สมศักดิ์" เปิดงานบูรณาการทรัพยากรน้ำ ชงยกระดับ สทนช.เป็นกระทรวงน้ำ หลังการแก้ปัญหาเรื่องน้ำสำคัญกับทุกภาคส่วน แนะช่วยกันศึกษาแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ หวังแก้ปัญหาน้ำท่วม-แล้งถาวร
เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 66 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดี กรุงเทพฯ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานบูรณาการสื่อสารแผนบริหารทรัพยากรน้ำลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำจาก "เอลนีโญ" ประจำปี 2566 โดยมี นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.), นายปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ปรึกษาประธาน กนช., นายกิตติกร โล่ห์สุนทร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง, นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี, นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ, นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน, นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้, นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
โดย นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ผมรู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดี ที่ได้มาเปิดงานบูรณาการสื่อสารแผนบริหารทรัพยากรน้ำลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำจาก "เอลนีโญ" ในวันนี้ เพราะรัฐบาลได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการบริหารและจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ เพื่อให้เกิดความสมดุลและเพียงพอในทุกกิจกรรมการใช้น้ำ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ในปีนี้และต่อเนื่องไปอีก 1-2 ปี มีแนวโน้มที่หลายพื้นที่ของประเทศไทย อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เอลนีโญ ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ทั้งด้านการอุปโภค-บริโภค การเกษตร และอุตสาหกรรม
...
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ ได้มีการพยากรณ์อากาศว่าจะเกิดภัยแล้ง แต่ช่วงปลายฤดูฝนได้มีฝนตกลงมา ทำให้มีน้ำเพิ่ม ซึ่งต้องทำการบ้านในเรื่องการพยากรณ์อากาศเพิ่ม เพื่อให้เกิดความพอดี โดยจากการรับฟังการรายงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ตนได้เห็นความสามารถในการบริหารจัดการน้ำ ที่ถือว่าเป็นงานที่สำคัญมาก เพราะในอดีตต่างคนต่างทำ แต่วันนี้มี สทนช.มาบูรณาการร่วมกัน ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
"ท่านที่ปรึกษาประธาน กนช.ได้ให้คำแนะนำผมว่า สทนช.คงเป็นเพียงสำนักงานไม่ได้แล้ว ซึ่งต้องถูกยกระดับให้เป็นกระทรวงภายในเร็วๆ นี้ เพราะเรื่องน้ำถือว่ามีความสำคัญกับทุกภาคส่วน รวมถึงต้องช่วยกันศึกษาในการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ เพราะเป็นสาเหตุของความเสียหาย โดยไม่ใช่พูดแต่เรื่องการแก้ปัญหากลางน้ำ หรือปลายน้ำเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ผมได้หารือกับธนาคารโลก ให้ช่วยไปศึกษาการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำแล้ว และนอกจากเรื่องน้ำ เรายังจำเป็นต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องดินด้วย เพราะหากแห้งแล้ง ดินแตก จะสร้างความเสียหายอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะภาคการเกษตร" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมศักดิ์ ยังได้เดินชมนิทรรศการเกี่ยวกับการแก้ปัญหาน้ำ โดยช่วงหนึ่งที่เยี่ยมชมของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายสมศักดิ์ ได้กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเสียดาย หากเรายังมีการใช้กฎหมายเดิม ทำให้ไม่สามารถเข้าไปพัฒนาสร้างอ่างเก็บน้ำให้ใหญ่ขึ้นได้ โดยหากเราเปลี่ยนมุมมอง ช่วยกันสร้างความชุ่มชื้นและมีที่เบรกน้ำ ก็จะสามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ เพราะหากเรายังไม่เริ่มเปลี่ยนแปลงการแก้ปัญหาที่ต้นน้ำ ก็จะมีผลกระทบตามมาอีกจำนวนมาก รวมถึงต้นไม้อาจแห้งตายจากภัยแล้งด้วย ตนจึงขอให้ช่วยกันศึกษาดู เพื่อทำให้เกิดการแก้ปัญหาแบบถาวร
นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า การจัดงานในวันนี้ เพราะต้องการให้ทุกหน่วยงาน ช่วยกันบูรณาการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ เพื่อทำให้เกิดความพอดี มีสมดุล และเกิดประโยชน์กับประชาชน โดยเฉพาะภาคการเกษตร และปศุสัตว์ ซึ่งต้องยอมรับว่าการบริหารจัดการน้ำ สทนช.ไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง โดยต้องมีทุกหน่วยงานมาช่วยกันขับเคลื่อน ส่วนสถานการณ์เอลนีโญมีแนวโน้มดีขึ้น เพราะขณะนี้อ่างเก็บน้ำทั้งประเทศมีประมาณ 70% ของความจุแล้ว ขณะเดียวกัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็มีความห่วงใยน้ำในภาคอุตสาหกรรม แต่ได้รับรายงานว่าน้ำเพียงพอแล้ว ทำให้ปีนี้ไม่น่าจะมีปัญหา
ผู้สื่อข่าวถามว่า การตั้งกระทรวงน้ำ จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ตนก็กำลังมองและศึกษาข้อมูลอยู่ เพราะต้องยอมรับว่าเรื่องน้ำเป็นภารกิจที่สำคัญมาก.