นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี หารือศักยภาพของพื้นที่ รองรับสินค้าอุตสาหกรรมหนัก พร้อมกำชับเร่งรัดพัฒนาเฟส 3 ให้เป็นไปตามแผน สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน 

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตรวจเยี่ยมท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี และพูดคุยประเด็นศักยภาพของพื้นที่สำหรับการรองรับสินค้าอุตสาหกรรมหนักในการนําเข้าและส่งออกของท่าเรือแหลมฉบัง โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะ เข้าร่วมด้วย โดยนายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับศักยภาพของท่าเรือแหลมฉบัง โดยในปี 2566 ท่าเรือแหลมฉบังมีศักยภาพในการรองรับจำนวนเรือสินค้าผ่านท่า 11,700 เที่ยว ปริมาณสินค้าผ่านท่า 94.1 ล้านตัน 8.67 ล้าน TEU (Twenty-Foot Equivalent Unit) รถ 1.5 ล้านคัน คิดเป็นสัดส่วนส่งออก ร้อยละ 49.8 และนำเข้า ร้อยละ 50.2 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และบูรณาการเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานรวมทั้งระบบราง ระบบถนน และทางทะเล เพื่อเพิ่มศักยภาพและรองรับการขยายตัว ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคต่อไป 

...

ในส่วนของความคืบหน้างานรับเหมาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 นั้น พื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 1 ส่งมอบพื้นที่ 31 สิงหาคม 2565 พื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 2 ส่งมอบพื้นที่ 1 ตุลาคม 2566 พื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 3 คาดว่าส่งมอบมิถุนายน 2567 ทั้งนี้ กำหนดแล้วเสร็จ 29 มิถุนายน 2569 โดยสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชน (บริษัท จีพีซีฯ) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จัดส่งมอบ พื้นที่ F1 ของโครงการฯ ให้แก่บริษัท จีพีซีฯ ภายในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2568

สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือเพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยจะดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำหรับจอดเรือน้ำลึกและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ รวมทั้งการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง (Single Rail Transfer Operator, SRTO) ก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรือ ตลอดจนโครงข่ายและระบบการขนส่งต่อเนื่องที่จำเป็นในเขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ที่จะเชื่อมต่อกับภายนอกให้เพียงพอและพร้อมที่จะรองรับการขยายตัวของปริมาณเรือและสินค้าประเภทต่างๆ

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ได้กำชับกระทรวงคมนาคม และเจ้าหน้าที่รัฐ เร่งรัดการดำเนินงานโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ให้เป็นไปตามแผนการดำเนินการก่อสร้าง ตามระยะเวลา และเป้าหมายของโครงการ เพื่อสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งนายกรัฐมนตรีรับทราบถึงการที่ กทท. จะเร่งดำเนินการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพให้สามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ยกระดับสู่ Smart Port รองรับกรุงเทพฯ ในการที่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของไทย

จากนั้น นายกรัฐมนตรีรับชมพื้นที่ภาพรวมการดำเนินงานของท่าเรือแหลมฉบัง จากหอบังคับการพัฒนาแหลมฉบัง ก่อนเดินทางไปตรวจเยี่ยมระบบการบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ณ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง.