เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ท่านนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย เศรษฐา ทวีสิน เดินทางไปเยือน สปป.ลาว ประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดของเราอย่างเป็นทางการ ได้ข้อสรุปได้ข้อตกลงที่จะเป็นประโยชน์แก่ทั้ง 2 ประเทศหลายต่อหลายเรื่อง
มีทั้งข้อตกลงด้านความร่วมมือทางการค้า การลงทุน การซื้อพลังงานสะอาด ไปจนถึงการเชื่อมโยงระบบราง-ถนน-สะพาน และโลจิสติกส์ต่างๆ
อีกข้อหนึ่งที่ผมชอบมากคือ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมไทย กับกระทรวงแถลงข่าววัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของ สปป.ลาว ซึ่งรับผิดชอบในประเด็น “ซอฟต์เพาเวอร์” ของทั้ง 2 ประเทศ
เรื่องอื่นๆโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจและการลงทุนนั้น สื่อต่างๆมีการพูดถึงกันไปพอสมควร ผมเห็นด้วยทั้งหมด
ขอสนับสนุนให้ทั้ง 2 ประเทศร่วมมือกันอย่างแข็งขันต่อไปนะครับ
ที่ผมอยากจะแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมก็เห็นจะเป็นเรื่อง “ซอฟต์เพาเวอร์” จากศิลปวัฒนธรรมและการบันเทิงต่างๆที่ลาวกับไทยมีการแลกเปลี่ยนข้ามแดนกันไปข้ามแดนกันมาอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
ผมเคยดูการแสดงดนตรีและวงนักร้องของทางฝ่ายลาว ปรากฏว่า ของเขาไม่เลวทีเดียว ข้ามมาฮิตทางฝั่งเราหลายๆเพลง
อย่างเมื่อสัก 10 ปีที่แล้ว มีอยู่เพลงหนึ่งชื่อเพลง “กระถินคืนถิ่น” ขับร้องโดย สิลิพอน สีปะเสิด นักร้องสาวของฝั่งลาว
บรรยายความถึงสาวลาวคนหนึ่งที่เคยมาอยู่เมืองไทย มารับจ้าง กรีดยางที่สุราษฎร์ธานี ดินแดน “สะตอฝักใหญ่” แต่อยู่ไปแล้วก็คิดถึง “กระถิน” พืชพันธุ์ตระกูลเดียวกันที่ท้องนาประเทศลาวอยู่เสมอ
จริงๆแล้วผู้ขับร้องคนแรกเป็นสาวลาวอีกเธอหนึ่ง อยู่ที่แขวงคำม่วน แต่ สิลิพอน นำไป Cover แล้วดังมากในเมืองไทย ทำให้เข้าใจว่าต้นฉบับเป็นของสิลิพอน
...
ต้องยอมรับว่าเพลงนี้ก็ฮิตมาก นักร้องไทยทั้งในระดับชาติและระดับหมอลำภาคอีสานตลอดจนรถแห่ต่างๆ นำมา Cover กันสนั่นหวั่นไหวจนแม้ทุกวันนี้ก็ยังฮิตอยู่
น้องเบลล์ นิภาดา นักร้องลูกทุ่งอีสานของแกรมมี่ โกลด์ นำมา Cover มียอดวิวถึง 27 ล้าน เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา
อีกเพลง ดังที่ลาวครั้งแรกเมื่อ 20 ปีก่อน แต่นักร้องลาวรุ่นหลังเพิ่งนำมาทำใหม่ ใส่จังหวะและมีหางเครื่องเต้นเป็นแบ็กกราวด์อยู่ด้วย ชื่อเพลง “สาวแหล้บ้านนา”
ปรากฏว่าฮิตระเบิดระเบ้อเช่นกัน มีการนำมา Cover ในเมืองไทยไม่รู้กี่ชุดต่อกี่ชุด และมีการนำไปเป็นจังหวะเต้นเวลาออกกำลังกายถ่ายมาให้ดูทางยูทูบในหลายๆจังหวัดทั่วไทย
ก็อย่างที่ทราบ การร้องเพลง Cover ทางยูทูบคงไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ และนักแต่งเพลงหรือวงดั้งเดิมก็จะได้ไปเพียงเครดิตหรือความนิยมชมชื่นเท่านั้น
แต่ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ครับ เพราะเมื่อคนรู้จักเสียแล้วนักร้องเดิมหรือเจ้าของวงเดิมก็ไปเปิดคอนเสิร์ตหารายได้จากคอนเสิร์ตมาชดเชย ซึ่งพบว่าดีเสียกว่าไปเรียกเก็บลิขสิทธิ์ด้วยซ้ำไป
ผมเชื่อว่าการแลกเปลี่ยนศิลปะความบันเทิงระหว่างเรากับ สปป.ลาว คงจะมีตลอดไป และก็คงจะมีเพลงอะไรใหม่ๆที่ฮิตทั้งบ้านเราและฮิตที่เขาออกมาเป็นระยะๆ
จะมีทางใดจุนเจือรายได้ไปที่เขาบ้างเวลาเพลงของเขาฮิต ก็ฝากกระทรวงวัฒนธรรมให้ช่วยคิดก็แล้วกัน
เช่น เชิญชวนเขามาแสดงคอนเสิร์ตบ้างได้ไหม? ออกวีซ่าพิเศษให้มาเดินสายในประเทศไทย แสดงในภาคอีสานที่นิยมเพลงของเขาอย่างมาก หรือแม้แต่ใน กทม.และปริมณฑลที่พี่น้องอีสานอยู่เยอะ ก็น่าจะแสดงได้เช่นเดียวกัน
ช่วงนี้ “กระถินคืนถิ่น” อาจจะซาๆไปบ้างแล้ว เชิญชุด “สาวแหล้บ้านนา” ตัวจริงๆเสียงจริงที่กำลังฮิตล่าสุดมาก็ได้ครับ เพื่อการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและเพิ่มรายได้ให้แก่ศิลปินบ้านเขาบ้าง
แฮ่ม! พูดแล้วก็อยากลุกไปเต้นเลยครับ...สนุกจริงๆเพลงนี้เวอร์ชันไหนก็สนุกเวอร์ชันนั้น ไม่ว่าของไทยของลาว ไม่เชื่อลองเข้า “ยูทูบ” คลิกดูกันเอง เต้นกันเองก็แล้วกันครับ.
“ซูม”
คลิกอ่านคอลัมน์ "เหะหะพาที" เพิ่มเติม