ประธานกรรมาธิการการปกครอง กรวีร์ ปริศนานันทกุล ได้เชิญ ชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล มาให้ข้อมูลถึง นโยบายในการปราบปรามผู้มีอิทธิพล ซึ่งมีการตั้ง ชาดา เป็นประธาน อนุกรรมการติดตามปัญหาการปราบปรามผู้มีอิทธิพล และตัวแทนกรมการปกครองแจ้งว่าได้มีการส่งหนังสือถึง ผู้ว่าฯทุกจังหวัดให้มีการคัดกรองผู้มีอิทธิพลทั่วทั้งประเทศตามที่มหาดไทยได้ประกาศแจ้งไปแล้ว โดยได้รับข้อมูลว่า มี 10 จังหวัดที่เป็นสีเขียว คือ ไม่มีผู้มีอิทธิพลเลย แต่เปิดเผยไม่ได้เพราะ เป็นความลับทางราชการ เป็นคำตอบที่ทำให้ว้าวุ่นไปเลย

โซนสีเหลืองมีอยู่ 66 จังหวัด 84 อำเภอ มีบุคคลอยู่ในกลุ่มผู้มีอิทธิพล 805 รายชื่อ 180 รายชื่อแรกเป็นผู้มีอิทธิพลกลุ่มสีแดงอีก 625 คน ผู้เคยมีอิทธิพลแต่ได้หยุดพฤติการณ์แล้ว ที่ต้องเฝ้าดูพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด

มีการให้คำจำกัดความ ผู้มีอิทธิพลของกระทรวงมหาดไทย ด้วยว่า เป็นบุคคลที่กระทำหรือสั่งการให้มีการละเมิด โดยใช้อำนาจ เงิน ตำแหน่ง ฐานะทางสังคม ในการคุกคาม กดขี่ ข่มเหง หรือรังแก ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน มีความผิดอยู่ทั้งหมด 16 มูลฐานความผิด

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าในช่วงที่มีการประชุมกรรมาธิการการปกครอง เกิดเหตุกับ ลูกเขยชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ถูก แจ้งข้อหาในฐานะผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเรียกรับสินบนพอดี ประธานกรรมาธิการการปกครอง ได้ตอบคำถามเรื่องนี้ว่า ต้องดูว่า เข้าข่ายการใช้อำนาจหน้าที่คุกคามรังแกพี่น้องประชาชนหรือไม่

รมช.มหาดไทย เอง ออกมาชี้แจงว่าสั่งการให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด และ ให้ลาออกจากตำแหน่ง นายกเทศมนตรีแล้ว ความเห็นของ รมว.มหาดไทย อนุทิน ชาญวีรกูล บอกสมน้ำหน้าที่ถูกจับได้ด้วยซ้ำ

...

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ทั้ง ประธานกรรมาธิการการปกครอง รมว.มหาดไทย และ รมช.มหาดไทย อยู่ในสังกัด พรรคภูมิใจไทย ผิดถูกอย่างไร ย่อมกระทบถึงความเชื่อถือของพรรคภูมิใจไทยและบุคลากรของพรรค

การลาออกจากตำแหน่งหลังที่ถูกจับกุม ไม่ใช่ความดีความชอบ สปิริตหรือการลบล้างความผิด พฤติกรรมทั้งหมดนี้จะถูกสังคมเพ่งเล็งว่า เป็นภูมิใจไทยการละคร หรือไม่โบราณว่าไว้ ผลไม้ย่อม หล่นไม่ไกลต้น เมื่อต้นเป็นพิษผลก็ย่อมเป็นพิษ ดังนั้น ความรับผิดชอบ จึงขึ้นอยู่กับ ผู้นำ จะตัดสินใจอย่างไร

พรรคการเมือง นักการเมือง กับ ผู้มีอิทธิพล แยกกันไม่ออก เป็นนักการเมืองก็เป็นผู้มีอิทธิพลได้ เป็นผู้มีอิทธิพลก็เป็นนักการเมืองได้ เป็นนักการเมืองได้ก็เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ไม่มีตัว คัดกรองว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรคือจริยธรรม และอะไรคือสปิริต ที่เป็นมาตรฐานของสังคม

กระทบถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ การแต่งตั้งนายตำรวจระดับผู้บังคับบัญชา แม้จะมีกติกาอย่างไรก็ตาม ไม่สามารถเป็นหลักประกัน ของความถูกต้องได้ ถึงจะถูกกล่าวหาพัวพันกับการกระทำความผิดร้ายแรงแค่ไหน แต่ถ้าอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ก็ไม่มีอุปสรรคสำหรับความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ สังคมที่อยู่ภายใต้อิทธิพล

กำลังถึงกลียุค.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ "คาบลูกคาบดอก" เพิ่มเติม