นักเศรษฐศาสตร์ค้านกันตรึมในนโยบายแจกเงินคนละ 10,000 บาท เป็นเงิน 5 แสนกว่าล้านบาท กลัวคนไทยจะเป็น “หนี้” หัวโต แต่แก้ปัญหา “ประเทศ” ไม่ได้จริง

หนึ่งในภาพสะท้อนความเป็นจริง ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส บอกว่า ที่แก้ปัญหาได้จริงคือ การสร้าง “สัมมาชีพ” เต็มพื้นที่

ศ.นพ.ประเวศ วะสี
ศ.นพ.ประเวศ วะสี

นั่นก็คือ...“เมื่อทุกคนมีงานทำ มีรายได้ หลุดหนี้ มีเงินออมก็หายจนอยู่ดีมีสุขมีอำนาจซื้อมาก เศรษฐกิจมหภาคก็จะเติบโตและมั่นคง เพราะอยู่บนฐานที่แข็งแรงของเราเองไม่ใช่พึ่งตลาดโลกเป็นหลัก”

ซึ่งแน่นอนว่า “ตลาดโลก” นั้นพลิกผันและวิกฤติง่าย รัฐบาลก็จะเก็บภาษีได้มาก โภคทรัพย์จักเต็มท้องพระคลัง

ศ.นพ.ประเวศ ย้ำว่า การสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ก็ไม่ยาก...ถ้าเป็นนโยบายของรัฐบาล โดยระดมกำลังของทุกฝ่าย ระดมเทคนิคและวิธีการทั้งหมดที่จะสร้างงาน ระดมการจัดการทั้งหมด

...

“นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้นำทิศทางนโยบายให้ทุกองคาพยพของประเทศมีความมุ่งมั่นร่วมกัน คนไทยไม่เคยมีความมุ่งมั่นร่วมกัน ...ไปคนละทิศคนละทาง ประเทศจึงติดอยู่ในวิกฤตการณ์เรื้อรัง เมื่อใดคนไทยมีความมุ่งมั่นร่วมกัน จะเกิดพลังประดุจแสงเลเซอร์ทะลุทะลวงอุปสรรคไปสู่ความสำเร็จ”

“นายกรัฐมนตรี”...จึงไม่ควรบริหารจิปาถะ ซึ่งจะหมดแรงและไม่สำเร็จ

แต่ต้องมีวิสัยทัศน์ว่าอะไรเป็นจุดคานงัดประเทศไทย และเป็นผู้นำที่สื่อสารให้คนไทยทั้งประเทศมีความมุ่งมั่นร่วมกันที่จุดคานงัดนั้น

จุดคานงัดประเทศไทย คือการสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่

“หายจนถ้วนหน้า ลดความเหลื่อมล้ำ ทุกคนมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น รวมทั้งรัฐบาลด้วย ไม่มีความเสี่ยงต่อการเป็นหนี้หัวโตและความล้มเหลวเหมือนการแจกเงิน”

“แจกงาน” ดีกว่า “แจกเงิน”

คนโบราณหรือผู้รู้โบราณ แบ่งระดับของสติปัญญาไว้ 6 ระดับ... เริ่มจากต่ำสุด...ระดับที่ 1 “จำ” คือ การท่องจำให้ได้ เหมือนการศึกษาเมืองไทย ระดับที่ 2 “ใจ” หมายถึง ความเข้าใจ ระดับที่ 3 “ใช้” มีระดับสูงขึ้นมาอีก หมายถึง การเข้าใจจนสามารถทำเป็น

และ ระดับที่ 4 “วิ” คือ สามารถวิเคราะห์ได้ถูกต้องในระดับที่สูงขึ้น...ระดับที่ 5 “สัง” หมายถึง สังเคราะห์ให้เห็นภาพรวมสู่การแก้ไข และ ระดับที่ 6 “ประ” คือ ประเมินสู่ตัดสินใจ ซึ่งการศึกษาไทย มักอยู่ที่ “ท่องจำ” มีระดับสูงสุด...วิเคราะห์เท่านั้น

เคยกล่าวไปแล้วหลายต่อหลายครั้งว่า...การปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จ ไม่ใช่ปฏิรูปเฉพาะองค์กรอย่างเดียว แต่ต้องปฏิรูปมโนธรรม หรือนำฐานชีวิตสถานการณ์จริงเป็นตัวตั้งด้วย...

“การศึกษาที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ทำให้คนไทยไม่รู้ความจริงของแผ่นดินไทย เมื่อไม่รู้ความจริงก็ทำให้ถูกต้องไม่ได้ จึงแก้ปัญหาต่างๆไม่สำเร็จ...ธรรมชาติของเศรษฐกิจมหภาคนั้นทำให้รวยกระจุกจนกระจาย”

ฉะนั้น เมื่อพัฒนาไปๆความเหลื่อมล้ำจึงมากขึ้นๆ “ความเหลื่อมล้ำ” คือ “การเสียสมดุล” อะไรที่เสียสมดุลจึงปั่นป่วน วุ่นวาย รุนแรง การเสียสมดุลจึงมีผลกระทบต่อทุกฝ่าย เพิ่มต้นทุนที่จะต้องจ่าย รวมทั้งต่อระบบเศรษฐกิจมหภาคด้วย...อะไรที่ทำแบบแยกส่วนจะทำให้เสียสมดุลเสมอ

ฉะนั้น คำตอบไม่ใช่การเลิกพัฒนาเศรษฐกิจมหภาค แต่คือ “การพัฒนาอย่างสมดุล”

การพัฒนาอย่างสมดุล คือการพัฒนาอย่างบูรณาการ ไม่ใช่พัฒนา แบบแยกเป็นส่วนๆอย่างที่ทำกัน คือต้องเชื่อมโยง การพัฒนาคือการเชื่อมโยงให้ทุกส่วนบูรณาการอยู่ในกันและกัน 8 มิติ

จะเรียกว่ามรรค 8 ก็ได้ นั่นคือ...เศรษฐกิจ...จิตใจ...สังคม... สิ่งแวดล้อม...วัฒนธรรม...สุขภาพ...การศึกษา...ประชาธิปไตย

หากมองมุมพระไตรปิฎกมักพบคำว่า “หงายของที่คว่ำ” หรือภาษาบาลี “อุตตานีกะโรติ” เมื่อพุทธองค์แสดงธรรมเสร็จสิ้น มักมีคำอุทานว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า แสดงธรรมแจ่มแจ้งนัก เหมือนจุดเทียนขึ้นในที่มืด เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนที่หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด

 ย้อนกลับมาดู “การศึกษาไทย”...ที่ผ่านมาเป็นแบบ “คว่ำ” ถูกครอบไว้ มีนักเรียน ครู ในห้องท่องหนังสือกัน ลักษณะแบบไม่เห็นเดือน... เห็นตะวัน ที่ไม่รู้ความจริงต่างๆ หากหงายของที่คว่ำ เปิดระบบการศึกษาให้ไปเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นได้ ที่เคยเป็นระบบปิดไม่มีการปฏิรูปมโนทัศน์นี้

 แต่กลับหันไปพูดถึงเรื่องการพัฒนาคุณภาพครู นักเรียน เรื่อยๆไป ก็ไม่เกิดความสำเร็จขึ้นได้แน่นอน ต้องเริ่มปฏิรูปมโนทัศน์ เพราะมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดในการจัดการศึกษา ก่อให้เกิดทฤษฎีการเรียนรู้ต่างๆในการช่วยอธิบายธรรมชาติ กระบวนการเรียนรู้ที่ดี นำสู่การสอนมีทิศทางเป้าหมายเหมาะสม

สามารถเชื่อมโยงสัมพันธ์กับเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ประชาธิปไตย จิตใจ วัฒนธรรม

 ย้ำว่า การพัฒนาที่สังคมข้างต้นทั้ง 8 มิติ แยกกันเป็นเรื่องๆจึงยากที่จะได้ผล แม้แต่เรื่องจิตใจหรือธรรมะก็ทำแบบแยกส่วน การพัฒนาศีลธรรมจึงไม่ได้ผล เพราะศีลธรรมนั้นเชื่อมโยงอยู่กับอีก 7 มิติ

...ส่วนการพัฒนาอย่างบูรณาการต้องเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง พื้นที่ก็คือสังคมข้างล่าง ข้างล่างกับข้างบนจึงต้องบูรณาการร่วมกัน

พัฒนาข้างบนเชื่อมกับข้างล่าง จึงเกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการ... “เศรษฐกิจบูรณาการ” เท่ากับเศรษฐกิจมหภาคบวกเศรษฐกิจชุมชนที่มีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ เป็นจุดคานงัดสัมมาชีพ...อาชีพที่ไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม และมีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้

“สัมมาชีพเต็มพื้นที่” เท่ากับเต็มทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ เรียกว่า “เต็มทั้งแผ่นดิน” ทุกคนมีงานทำ มีรายได้ มีเงินเหลือเก็บในมือ เกิดความร่มเย็นเป็นสุข สุขภาพดี ศีลธรรมดี ฯลฯ... “การมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่จึงเป็นจุดคานงัด คืองัดไปสู่การพัฒนาทุกเรื่อง”

ฉะนั้น เศรษฐกิจมหภาคเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจชุมชนอย่างเกื้อกูลกันที่เรียกว่า “เศรษฐกิจคู่แฝด” หรือ “ทวินเศรษฐกิจ” คือคำตอบประเทศไทยและคำตอบโลกด้วย...เศรษฐกิจมหภาคที่ทรงพลัง ทั้งโดยตัวเองและโดยดึงฝ่ายอื่นๆไปร่วมส่งเสริมสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่...ก็จะไม่มีคนยากจน ไม่มีคนว่างงาน

ลดความเหลื่อมล้ำและการที่คนทั้งประเทศมีงานทำ มีรายได้ มีเงินเหลือเก็บ ก็จะมีอำนาจซื้อมาก ทำให้เศรษฐกิจมหภาคเติบโตและมั่นคง เพราะมีฐานอยู่ในประเทศ ไม่วูบไหว โกลาหลอยู่เป็นประจำ เมื่อต้องพึ่งแต่ตลาดโลกเป็นใหญ่ ถึงโลกจะผันผวนอย่างไร เราก็จะไม่เป็นไร เพราะมีฐานที่มั่นคง...

ในท้ายที่สุดแล้ว...เมื่อสังคมไทยมีความสมดุลก็จะสงบ เป็นปกติสุขลงตัว...ไม่ว้าวุ่น.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม