“นิติธร ล้ำเหลือ” นำมวลชน คปท. ขอเยี่ยม “ทักษิณ” ที่โรงพยาบาลตำรวจ เกาะติดอาการป่วยจริงหรือไม่ พร้อมร่วมโต๊ะคุย รองแพทย์ใหญ่ เรื่องการรักษา จี้ถามกรมราชทัณฑ์ทำประวัติประจำตัวผู้ต้องขังหรือยัง

วันที่ 22 ต.ค. 2566 ที่โรงพยาบาลตำรวจ กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดย นายนิติธร ล้ำเหลือ หรือ ทนายนกเขา รวมตัวไปขอเข้าเยี่ยม นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ รพ.ตำรวจ โดยมีการจัดวางกำลังตำรวจชุดควบคุมฝูงเข้ามาดูแลสถานการณ์ชุมนุม

จากนั้น เวลา 17.30 น. นายนิติธร พร้อมแกนนำกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ได้ร่วมโต๊ะพูดคุยกับตัวแทนแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อซักถามข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็นการรักษา น.ช.ทักษิณ ชินวัตร  

นายนิติธร เผยว่า ได้พบกับ รศ.พล.ต.ต.กิตติ์ธนทัต เลอวงศ์รัตน์ รองนายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ โดยได้อธิบายว่าตนไม่เกี่ยวข้องกับการรักษา น.ช.ทักษิณ โดยตรง และไม่ทราบรายละเอียดของคนไข้ กระบวนการรักษาจบที่เครื่องมือแพทย์หรือไม่ก็ไม่ทราบได้ ส่วนประเด็นสำคัญคือโรงพยาบาลตำรวจมีหน้าที่ในการดูแลคนไข้และเคยดูแลนักโทษที่ส่งมาตามกรมราชทัณฑ์ ในการดำเนินการรักษา แพทย์จะแจ้งแค่ว่ารักษาอย่างไรและอาการเป็นอย่างไร สำหรับความเห็นที่จะให้รักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลหรือไม่ไม่ใช่หน้าที่ของแพทย์ ทุกครั้งที่ผ่านมาในการประเมินอนุญาตให้อยู่ต่อเป็นเรื่องของกรมราชทัณฑ์โดยตรง ในความเห็นที่ให้ไปก็ไม่มีการพูดถึงการให้อยู่ต่อ เพราะกรมราชทัณฑ์เป็นเจ้าของคนไข้ ส่วนเรื่องกระบวนการ อาหาร ไม่ใช่เรื่องของแพทย์ แต่อาจจะพูดแค่ว่าอาหารควรมีรสชาติแบบไหน โดยอาหารเป็นหน้าที่หลักของกรมราชทัณฑ์ที่ต้องจัดดูแล ฉะนั้นในเรื่องของอาหารไม่ใช่เรื่องกระบวนการรักษาโดยตรงและเป็นเรื่องที่กรมราชทัณฑ์เปิดเผยได้ 

...

ในส่วนของยาที่ใช้รักษา น.ช.ทักษิณ สามารถใช้ยาทั่วไปที่มีอยู่ทุกโรงพยาบาลได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาของ รพ.ตำรวจ เนื่องจาก รพ.ตำรวจ ก็ไม่ได้ผลิตยาเอง ขณะนี้ประเด็นสำคัญ กรมราชทัณฑ์อ้างเกี่ยวกับข้อมูลของผู้ป่วย อ้างเรื่องจรรยาบรรณทางการแพทย์ แต่ขณะนี้กรมราชทัณฑ์มีสถานะเป็นเจ้าของคนไข้ ฉะนั้นถ้ากฎหมายเป็นอุปสรรคในการปิดบังข้อมูลเราเองก็ไม่ต้องการกระทบบุคคลทั่วไป แต่บุคคลที่ต้องอยู่ในการควบคุมของทางราชการ แม้จะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาก็ต้องสามารถเปิดเผยได้ ก็จะต้องมีการเสนอให้แก้ไขกฎหมายต่อไป เพราะมิเช่นนั้นจะเป็นประโยชน์จากการไม่ป่วยแต่อ้างป่วย แล้วปกปิดข้อมูล โดยอ้างว่าเป็นข้อมูลของผู้ป่วย และกรมราชทัณฑ์ต้องตอบว่าที่ผ่านมาได้ทำบัตรประจำตัวผู้ต้องขังหรือยัง มีทะเบียนประวัติหรือไม่ หากไม่มีก็ถือเป็นการเลี่ยงปฏิบัติ เป็นข้อยกเว้น