“กิตติรัตน์ ณ ระนอง” อัด “รสนา” โดนนักเศรษฐศาสตร์ชี้นำ จนด้อยค่าเงินดิจิทัลว่าไปลอกคนอื่นมา ยันเป็นเงินดี พร้อมยกกรณีฮ่องกง ชี้หากยังไม่คลายความสงสัย ยินดีไปพบ โอดช้ำใจ ที่มีคนเรียกไทยว่า “กะลาแลนด์”

วันที่ 22 ตุลาคม 2566 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (เศรษฐา ทวีสิน) รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กตอบโต้ นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ระบุว่า นักเศรษฐศาสตร์การเงิน คนหนึ่งชื่อ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ซึ่งก็รู้จักมักคุ้นกับนางสาวรสนา โตสิตระกูล ผ่านความชื่นชอบหลงใหลในศิลปะการดนตรี ได้อ่านความคิดของนักเศรษฐศาสตร์การเงินอีกท่านหนึ่ง ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใคร เพราะนางสาวรสนา มิได้ระบุนาม และนำความคิด ด้อยค่า เงินดิจิทัล วอลเล็ต (Digital Wallet) ว่าเป็นเงินเลว (Bad Money) มาชี้นำนางสาวรสนา 

“ผมไม่ขอชี้นำอะไรท่านนะครับ ขอเพียงตั้งข้อสังเกต และคำถามต่อนักเศรษฐศาสตร์ฯ ท่านนั้น ผ่านคุณรสนา และหวังลึกๆ ว่าข้อสังเกตและคำถามของผมอาจทำให้คุณรสนา และมิตรสหายของท่านฉุกใจขึ้นมาว่าน่าจะลองฟังความให้ถ้วนถี่อีกสักครั้งก่อนจะปักใจไปทางหนึ่งทางใด

1. ท่านทราบไหมครับว่า คำว่า “เงินเลว (Bad Money)” เป็นคำที่ผู้บริหารการคลังของอังกฤษ คือ Sir Thomas Gresham ใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1558   (พ.ศ. 2101) แต่มาโด่งดังจนเป็นรู้จักกันในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ว่า Gresham's Law ใน ค.ศ. ที่ 19 ซึ่งหากจะพยายามนำมาใช้กับกรณีนี้ ผมตีความในทางบวกได้ว่า เงินที่ว่าเลวนั้น สามารถทำหน้าที่ของการเป็นตัวกลางของการจับจ่ายใช้สอยที่ดี เมื่อลดความน่าเก็บสะสม ซึ่งเราทุกคนย่อมทราบดีว่าในยามที่เราจำเป็นต้องกระตุ้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การมีเงิน หรือรับเงินไปแล้วถูกใช้จ่ายในกรอบเวลา และใช้จ่ายไปกับสิ่งที่พึงประสงค์ จะกระตุ้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดี “เงินเลว (Bad Money)” จึงเป็นเงินที่ดี ตามภารกิจได้

...

จึงขอกราบฝากคุณรสนา เรียนถามนักเศรษฐศาสตร์ฯ ท่านนั้นว่า ท่านเข้าใจ Gresham's Law แบบที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เขาเข้าใจไหม?

2. นอกจากการนำคำนิยาม “เงินเลว (Bad Money)” เก่าแก่ในอดีต มาใช้เชิงวาทกรรม แต่ไม่อิงความหมายที่ลึกซื้งแล้ว ท่านนักเศรษฐศาสตร์ฯ ท่านนั้น ไม่สังเกตเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นใกล้ตัว ในปัจจุบัน คือ ค.ศ. 2023 (พ.ศ. 2566) ของเขตเศรษฐกิจสำคัญของเอเชีย ใกล้บ้านเราคือ ฮ่องกง บ้างเลยหรือครับ

“In 2023, all Hong Kong permanent residents can receive the full payout of HK$5,000. Those who are not permanent residents, but who have come to the city to study or work, will receive HK$2,500, or half of the payout. Domestic workers are exempt from any payout.

ประชาชน “ชาวฮ่องกงทุกคน” ได้รับเงิน 5,000 เหรียญฮ่องกง หรือประมาณคนละ 23,000 บาท โดยรับเงินผ่านดิจิทัล วอลเล็ต เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2566 จำนวน 3,000 เหรียญฯ และหากใช้จนหมดภายในวันที่ 30 มิ.ย. ก็ได้รับ อีก 2,000 เหรียญฯ ที่เหลือตามสิทธิ์เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2566

นอกจากนั้น นักเรียน หรือผู้มาทำงานระยะยาว ก็ได้รับเงินครึ่งหนึ่งหรือ 2,500 เหรียญฮ่องกงด้วย

นักเศรษฐศาสตร์ฯ ท่านนั้น ไม่ได้ติดตามข่าวสารเศรษฐกิจการเงินในต่างประเทศบ้างเลยหรือครับ? 

ท่านคิดไหมว่าการมอบเงินดิจิทัลที่มีเงื่อนไขการใช้จ่ายที่ถูกด้อยค่าว่าเป็น “เงินเลว (Bad Money)” นั้น แท้ที่จริง เป็น “เงินดี (Good Money)” ตามภารกิจกระตุ้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ?

ท่านนักเศรษฐศาสตร์ฯ ท่านนั้น บิดเบือนด้อยค่าดิจิทัล วอลเล็ต ให้คุณรสนาเข้าใจผิดจนตกอกตกใจนำไปถ่ายทอดกับมิตรสหายผู้หวังดีกับประเทศชาติทำไม?

หากคุณรสนา ยังไม่คลายความสงสัย ผมยินดีไปขอพบเพื่อปุจฉา วิสัชนา ทั้งเรื่องเศรษฐกิจการเงิน เรื่องศิลปะการดนตรี หรือเรื่องอื่นใดที่อาจจะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนได้อีก ผมจะยินดีเป็นที่สุดครับ

ผมจบตรงนี้ ขอผู้พบเห็นข้อความนี้ โปรดอย่าตามมาด้อยค่านโยบาย ดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ของรัฐบาลเลยนะครับ ว่าไปลอกใครมา แบบคนที่มีอคติที่พอเห็นใครทำอะไรคล้ายใครก็จ้องตำหนิว่าลอกเขามา แต่พอทำไม่เหมือนใครเอาเสียเลยก็ด่วนกล่าวหาว่า “ทำเสี่ยง ทำประหลาด” 

ผมช้ำใจทุกครั้ง ที่มีคนเรียกเราว่า “กะลาแลนด์” คือขยับซ้ายก็ไม่เอา ขยับขวาก็ไม่ยอม เอาแต่จมปลักทับปัญหาไว้

เราอย่าปล่อยให้ผู้คนส่วนใหญ่ แต่เสียงเบา ต้องลำบากยากจนแบบไม่คิดแก้ไขกันเลยนะครับ”.