รัฐบาลมอบหมายกระทรวงที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการผลิต และใช้รถยนต์ไฟฟ้า ตั้งเป้าการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ และชิ้นส่วน เล็งปรับรถสาธารณะทุกชนิดให้เป็น EV สร้างโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ

วันที่ 22 ตุลาคม 2566 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า รัฐบาลเอาจริงเอาจังมุ่งมั่นสนับสนุนการผลิต และการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ที่ปล่อยมลพิษเป็น 0 เดินหน้าสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality (ความเป็นกลางทางคาร์บอน) ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำอาเซียนด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ใช้การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ย้ำและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อสนับสนุนการผลิต และการใช้ EV ที่ปล่อยมลพิษเป็น 0 เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ รวมถึงความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ดังนี้

มอบหมายให้ 5 กระทรวงร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษา และกำหนดนโยบายและมาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปภายในมาเป็น EV ควบคู่กับให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พิจารณากำหนดนโยบาย และมาตรการเพื่อส่งเสริมให้เกิดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) EV ภายในประเทศอย่างครบวงจร เพื่อรองรับการผลิต EV ภายในประเทศ และรองรับการเป็นศูนย์กลางการผลิต EV และชิ้นส่วนสำคัญของภูมิภาค โดยให้ทำควบคู่กับคำส่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมาคือ 

...

1. ให้ทุกหน่วยราชการ และหน่วยงานของรัฐพิจารณาดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง EV มาใช้ในราชการแทนรถยนต์เดิมที่จะหมดอายุการใช้งาน หรือที่จะต้องจัดซื้อจัดจ้างขึ้นใหม่ เพื่อรองรับภารกิจใหม่ หรือผู้ดำรงตำแหน่งใหม่ 

2. ให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับกระทรวงการคลัง พิจารณากำหนดมาตรการ และมาตรฐานเพื่อขับเคลื่อนการปรับปรุงรถสาธารณะทุกชนิดให้เป็น EV และดำเนินการตามขั้นตอนให้ถูกต้อง เพื่อให้มีผลใช้บังคับโดยเร็วต่อไป

3. ให้กระทรวงพลังงานร่วมกับกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการใช้งาน EV ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานตามความจำเป็นเร่งด่วนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

นางรัดเกล้า ระบุในช่วงท้ายว่า “รัฐบาลได้เร่งเตรียมความพร้อมวางมาตรการ และนโยบายอย่างครอบคลุม เพื่อจะไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน แม้เป้าหมายจะมีความท้าทาย และต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทุกหน่วยงานของรัฐพร้อมเดินหน้า ดำเนินมาตรการและนโยบาย สนับสนุนให้ไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และใช้เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ”.