"จุลพันธ์" แจง เลื่อนประชุมอนุฯ เงินดิจิทัล ข้อสรุปยังไม่เสร็จ นัดใหม่สัปดาห์หน้า จ่อ เปิดช่องทางพิเศษ สำหรับ "รปภ.-ป่วยติดเตียง" ได้ใช้เงิน ย้ำ มีหลายแหล่งเงินทุนผสม อุบตอบ "ออมสิน" หนึ่งตัวเลือก ไม่แคร์ถูกยื่นสอบ-ร้อง ป.ป.ช. พร้อมแจงทุกข้อสงสัย ลั่น จะทำให้ทันใช้ต้นปีหน้า
วันที่ 19 ต.ค. ที่กระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าการประชุมคณะอนุกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต ขอแจ้งเลื่อนออกไป เพราะส่วนงานที่เกี่ยวข้องยังไม่พร้อม หลังจากที่ฝ่ายเลขาฯ ได้สรุปการประชุมเมื่อวานนี้ (17 ต.ค.) ยังมีบางประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุป จึงไม่สามารถนำมาเสนอให้คณะอนุกรรมการได้ และกระบวนการทำใช้เวลา จึงต้องชะลอการประชุมออกไปก่อน เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่รัดกุม จะได้ข้อสรุปและนัดประชุมอีกครั้งในสัปดาห์หน้า ยืนยันว่า สาเหตุการเลื่อนประชุมนั้นไม่เกี่ยวกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะข้อเสนอแนะเหล่านั้นก็ได้นำเอาไปใช้ในชั้นกรรมการ และมีความคืบหน้าเรื่องรัศมีที่ของการใช้เงิน ที่ขยายจากเดิม 4 กิโลเมตร เป็น ตำบล-อำเภอ และจังหวัด
"รัฐบาลยังยืนยันเดินหน้าโครงการนี้เพราะถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่นโยบายสังคมสงเคราะห์ เราต้องการให้เงินหมุนเวียนและเติบโตทางเศรษฐกิจไม่กระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ หรือเพียงแต่ในกรุงเทพฯ การกำหนดพื้นที่การใช้เงินจึงมีความสำคัญ เพื่อให้เงินทั่วถึง" รมช.คลัง กล่าว
...
ส่วนเสียงสะท้อนที่ระบุว่า ในบางอาชีพ โดยเฉพาะพนักงานรักษาความปลอดภัย ที่จะต้องลางานไปใช้เงินในภูมิลำเนาตามบัตรประชาชน นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ประเด็นนี้ก็ยังรับฟังอยู่ แต่สิ่งที่คิด คือ รัฐบาลพยายามทำให้ทันในช่วงปีใหม่ จะได้มีโอกาสกลับไปใช้เงินยังภูมิลำเนา และถ้ามีความจำเป็นอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อาจต้อง "เปิดประตู" เป็นทางเลือกให้ แต่เฉพาะบางกรณีเท่านั้น อย่างเช่น กรณีของผู้ป่วยติดเตียง จึงต้องสร้างกลไกมารองรับความแตกต่าง และความหลากหลายให้ได้ เป็นภาระของเราที่จะต้องนำกลับไปคิด
ส่วนเรื่องการกู้เงินจากธนาคารออมสินมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น นายจุลพันธ์ ยืนยันว่า ไม่ได้พูดคุยในประเด็นนี้ ส่วนที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต สว.ไปยื่นต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบว่า ประเด็นการทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เข้าข่ายการฟอกเงินหรือไม่นั้น รมช.คลัง ระบุว่า ก็เป็นสิทธิ์ที่แต่ละคนจะไปยื่นตรวจสอบ ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ และถือว่าเป็นสิ่งที่ดีด้วยซ้ำ จะได้รับการตรวจสอบ และจะได้ดำเนินโครงการนี้อย่างรอบคอบ รัดกุม เพราะยืนยันมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า เราดำเนินการทุกอย่างภายใต้กรอบของกฎหมาย และยืนยันว่า นโยบายนี้ ฝ่ายกฎหมายยืนยันว่า ไม่มีช่องทางทุจริต เพราะเงินทุกบาทถูกกำหนดด้วยบัตรประชาชนของทุกคน ไม่มีใครจะสามารถเอาเงินนี้ไปได้ และหากองค์กรอิสระจะเรียกไปชี้แจง ตนเองก็พร้อมจะไป เพื่อทำความเข้าใจและคลายข้อสงสัย รวมถึงไปฟังข้อเสนอแนะที่จะมีให้ หากส่วนไหนปรับได้ก็พร้อม
เมื่อถามว่า อาจมีการฮั้วกับร้านค้า เป็นการฟอกเงินเพื่อแลกเงินในระบบออกมาเป็นเงินสด โดยยอมได้เงินเพียง 7,000-8,000 บาทเท่านั้น นายจุลพันธ์ ระบุว่า ประเด็นแรก คือ การเติมเงินเข้าไปในกระเป๋าตังค์ดิจิทัลให้ประชาชน โดยต้องใช้ตามเงื่อนไขบางอย่าง เช่น ไม่ให้นำไปใช้หนี้ ซื้อสินค้าแอลกอฮอล์ ในระยะรัศมีที่กำหนดเท่านั้น ซึ่งก็เป็นเงินที่เท่ากับเงินบาท หากใครไปยอมแลกจาก 10,000 บาท เหลือ 8,000 บาท ก็ขาดทุนแค่นั้น ซึ่งเชื่อว่า การตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดจะถูกบันทึกในระบบที่แก้ไขไม่ได้ แอปพลิเคชันที่ของรัฐบาลก่อนก็มีกลไกการตรวจสอบเช่นเดียวกัน และเมื่อมีเรื่องทุจริตก็ฟ้องร้องกันไป เช่นเดียวกับเรื่องนี้ ที่สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ เรามีความเชื่อมั่น รัฐบาลเตรียมอุดรอยรั่วไว้แล้ว และมีข้อเสนอตั้งคณะอนุกรรมการอีกชุดให้ติดตามตรวจสอบเรื่องการทุจริตเหล่านี้ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ในนั้นทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ต้องรอการประชุมก่อน
ส่วนแหล่งที่มาของเงินนั้น นายจุลพันธ์ ระบุ อาจไม่ใช่ทางเลือกเดียว ต้องรอดูข้อสรุปอีกครั้ง ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้มีตัวเลือกเดียว อยากให้รอฟังข้อสรุปก่อน ไม่สามารถตอบได้ว่าการกู้ออมสินจะเป็นตัวเลือกหรือไม่
ส่วนข้อสงสัยที่มีการตั้งคำถามว่า ทำไมไม่ใช้แอปเป๋าตังที่มีอยู่แล้ว นายจุลพันธ์ ระบุว่า แอปเป๋าตังไม่ใช่ไม่ดี แอปที่ผ่านมาเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น ทุกอันก็ดำเนินการตามวัตถุประสงค์แล้ว ซึ่งโครงการนี้มีรายละเอียดของตัวเอง และมีข้อจำกัดรายละเอียดที่ต่างกัน เรามองไปถึงการทำ Super App แต่ไม่ได้หมายความว่า ต้นปีจะแล้วเสร็จ แต่มันคือก้าวถัดไป การพัฒนาต่อยอด แอปตัวนี้ต้องเป็นของรัฐบาล ข้อมูล บล็อกเชนก็ต้องเป็นของรัฐบาล เพื่อพิจารณาพัฒนาในมิติต่างๆ ให้ครบถ้วน
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ที่ไม่สามารถใช้แอปเป๋าตังได้ เพราะคนละธนาคารกับการกู้เงินจากธนาคารออมสิน นายจุลพันธ์ กล่าวว่า อันนี้คิดกันเอง ตนเองไม่รู้จะตอบยังไง มีหลายคำถามที่ยังตอบไม่ได้ เหมือนค่าทำแอป 1 หมื่น 2 พันล้านบาท ก็ไม่จริง ผมฟังก็ยังตกใจตัวเลข ไม่รู้ที่มาจากไหน ยืนยันว่าเราทำแอปใหม่ ส่วนผู้รับผิดชอบแอปพลิเคชัน มอบหมายให้สมาคมธนาคารของรัฐให้ไปคุยกัน และการพัฒนาต่อยอด Super App เป็นหน้าที่ของรัฐบาล โดยมีหลายหน่วยงานที่ถือข้อมูลอยู่คนละส่วน จึงต้องร่วมมือกันในอนาคต
เมื่อถามถึงความมั่นใจในการเริ่มใช้โครงการนี้ยังเป็นกรอบระยะเวลาเดิมหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เราตั้งเป้า 1 ก.พ. 67 และพยายามทำตามเป้าหมายเดิม สุดท้ายหากมีข้อจำกัด ไม่สามารถทำได้ เราก็ไม่เอาเรื่องความมั่นใจ ความปลอดภัย กระบวนการทดสอบระบบ การทดสอบการป้องกันต่างๆ ที่ใช้เวลานาน คณะอนุกรรมการ นายกฯ ก็ไม่ไปแลกเรื่องนี้กับความเร็ว
“หากไม่ทันจริงๆ ก็เลื่อน ผมพร้อมไปบอกนายกฯ ว่า ยังไม่พร้อมจริงๆ ยืนยันว่า เราได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ตั้งคณะอนุกรรมการ หาข้อสรุปให้คณะกรรมการ หรือถ้าหาข้อสรุปไม่ได้ก็เสนอตัวเลือกให้กับคณะกรรมการตัดสินใจ” นายจุลพันธ์ กล่าว