“จุรินทร์” หนุน ปลดล็อก “นกกรงหัวจุกบ้าน” ส่งเสริม เศรษฐกิจวิถีชีวิตคนไทยทุก ด้าน ภาคกรมอุทยานแห่งชาติฯ จับมือทุกภาคส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็น ปัญหาการครอบครองและสถานภาพทางกฎหมายของนกปรอดหัวโขน


วันที่ 18 ต.ค. 2566 ที่ห้องประชุมสัมมนา ชั้น บี 1 สภาผู้แทนราษฎร นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้า และ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปลดล็อกนกกรงหัวจุกจากสัตว์ป่าคุ้มครองเป็นสัตว์เศรษฐกิจว่า วันนี้ตั้งใจมารับฟัง เพราะเป็นเรื่องการรับฟังความคิดเห็น หรือการทำประชาวิจารณ์ของกรมอุทยานฯ ตนมาในฐานะผู้สังเกตการณ์ และมีสถานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย โดยนายจุรินทร์ กล่าวช่วงหนึ่งว่า ขออนุญาตสอบถามเพื่อความเข้าใจ เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือถูก คือ พี่น้องต้องการให้แยกนกออก 2 ประเภท คือประเภทที่ 1 นกป่า ประเภทที่ 2 นกบ้าน

ประเภทที่ 1. นกป่า ต้องการให้มีการอนุรักษ์ ประเภทที่ 2. นกบ้าน ต้องการให้มีการปลดล็อก เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของประชาชนที่สืบทอดมานานกว่า 100 ปี (ได้รับเสียงปรบมือสนั่นห้องประชุม) ถ้าเป็นเช่นนั้นตนจะได้เป็นแนวทางช่วยสนับสนุนได้ถูกต้องต่อไป

...

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ตนได้สอบถามอธิบดีกรมอุทยาน ว่า วิธีการปลดล็อกนี้จะต้องทำอย่างไร ได้รับคำตอบว่า วิธีปลดล็อกต้องแก้กฎกระทรวง หรือ ต้องออกเป็นกฎกระทรวง โดยออกเป็นมติคณะกรรมการ แล้วรัฐมนตรีก็จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบกับกฎกระทรวงนั้น หาก ครม. เห็นชอบก็ประกาศใช้ ถ้าเนื้อหากฎกระทรวงปลดล็อกก็สามารถปลดล็อกได้

ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะรับเรื่องนี้ไปดำเนินการตามหน้าที่เพื่อเป็นตัวแทนของประชาชนต่อไป เพื่อสนับสนุนให้นกกรงหัวจุกเป็นสัตว์เศรษฐกิจและดำรงวิถีชีวิตประชาชนต่อไปได้

ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการครอบครองและสถานภาพทางกฎหมายของนกปรอดหัวโขน โดยมีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม เพื่อร่วมรับฟังความคิดเห็น การให้ความรู้ ความเข้าใจถึงการเลี้ยงนกปรอดหัวโขน การเพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์ การอนุรักษ์ รวมไปถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่ส่งผลกระทบกับผู้เลี้ยง และนกปรอดหัวโขนที่อาศัยในธรรมชาติ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ ผู้เพาะเลี้ยง ผู้ประกอบการที่ประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับนก รวมไปถึงนักอนุรักษ์ ได้รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และหาข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

นกปรอดหัวโขน (นกกรงหัวจุก) เป็นที่นิยมเลี้ยงในภาคใต้เนื่องจากมีเสียงร้องไพเราะและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ อีกทั้งกลุ่มผู้เลี้ยงสามารถเพาะพันธุ์นกได้จำนวนมาก จึงผลักดันให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจและปลด “นกปรอดหัวโขน” จากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ของภาคใต้ โดยนกปรอดหัวโขน มีการกระจายตัวอยู่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยข้อมูลในปี 2566 พบว่ามีการกระจายตัวของนกปรอดหัวโขนในธรรมชาติ พบได้ทั่วไปในป่าโปร่งที่อยู่ใกล้ชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้ฝั่งอันดามัน ปัจจุบันนกปรอดหัวโขนจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกนก ลำดับที่ 550 ตามกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 ห้ามล่า หรือจับมาจากธรรมชาติ

ปัจจุบัน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีกระบวนการส่งเสริมการอนุรักษ์นกปรอดหัวโขนให้กับผู้ที่สนใจเลี้ยง สนับสนุนพ่อแม่พันธุ์ให้ภาคเอกชนสามารถครอบครอง เพาะพันธุ์ และค้าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงปรับลดขั้นตอนในการอนุญาตครอบครองหรือเพาะพันธุ์ แต่ยังมีผู้เพาะเลี้ยงที่ไม่ได้รับอนุญาตจำนวนมาก เนื่องจากมีขั้นตอนการขออนุญาตหลายขั้นตอน ต้องใช้หลักฐานหลายอย่าง และต้องลงทุนสูง จากข้อมูลการรายงานสรุปผู้ได้รับอนุญาตให้เพาะพันธุ์ ค้า ครองครอง นกปรอดหัวโขน ในช่วงปี พ.ศ. 2555 - ปัจจุบัน มีนกปรอดหัวโขนที่ขึ้นทะเบียนถูกกฎหมาย จำนวน 134,325 ตัว จากผู้ขอขึ้นทะเบียน จำนวน 11,527 ราย ที่ผ่านมาพบผู้กระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับนักปลอดหัวโขน ตั้งแต่ปี 2562-2566 รวม 183 คดี สามารถตรวจยึดนกผิดกฎหมายได้ทั้งสิ้น 6,406 ตัว