"ณัฐพงษ์" สส.สมุทรสาคร พรรคก้าวไกล เสนอญัตติตั้ง กมธ.ศึกษาแก้ไขกฎหมายประมงไทยทั้งระบบ หวังหาฉันทามติ แก้ไขให้เหมาะสมยุคสมัย-ลดผลกระทบต่อทุกฝ่าย-สอดรับพันธกรณีระหว่างประเทศ พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล

วันที่ 18 ต.ค. 66 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สส.สมุทรสาคร เขต 1 พรรคก้าวไกล เสนอญัตติขอให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและเสนอแนะการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมงทั้งระบบให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้ประกอบการประมงและกิจการต่อเนื่อง และสอดรับกับพันธกรณีระหว่างประเทศ

โดยนายณัฐพงษ์กล่าวว่า เนื่องจากผู้ประกอบกิจการประมงในประเทศไทย รวมทั้งชาวประมงพาณิชย์ที่ประกอบกิจการประมงนอกน่านน้ำไทย และผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจการประมง ได้รับความเดือดร้อนจากการตรากฎหมายประมงอย่างเร่งด่วนของรัฐบาล คสช. โดยไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 และปราศจากการกลั่นกรองจากรัฐสภาก่อนการประกาศใช้ โดยให้เหตุผลเพียงต้องการจะแก้ไขปัญหาการประมงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย (IUU Fishing) ตามความเข้าใจของรัฐบาลในขณะนั้น

สำหรับสถานการณ์ภายหลังประเทศไทยได้รับใบแจ้งเตือนจากสหภาพยุโรป และเร่งตรากฎหมายดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบต่อทั้งผู้ที่ถูกกฎหมายบังคับใช้โดยตรงอย่างไม่เป็นธรรม และส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนทรัพยากรสัตว์น้ำ คิดเป็นมูลค่ากว่าปีละ 2 แสนล้านบาท เป็นเวลานานกว่า 8 ปี ผู้ประกอบการหลายรายไม่สามารถประกอบอาชีพหรือมีรายได้เลี้ยงครอบครัวต่อไปได้

ตนจึงต้องการนำประเด็นปัญหาในส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งการประมง เรือและการเดินเรือ ตลอดจนการใช้แรงงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมง ที่บังคับใช้กับกิจการประมงทั้งระบบมาพิจารณาศึกษา และจัดทำเป็นข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล รวมทั้งการยกร่างกฎหมายขึ้นใหม่ให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรม เสนอต่อรัฐสภา เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมง เป็นกรอบในการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีความยั่งยืนภายใต้บริบทของไทยและกรอบพันธกรณีระหว่างประเทศด้วย

นายณัฐพงษ์ ยังได้ยกเหตุผล 2 ประการเกี่ยวกับความจำเป็นในการตั้ง กมธ.วิสามัญฯ ดังกล่าว ประการแรก มีกฎหมายกว่า 10 ฉบับ ในระดับ พ.ร.บ. และ พ.ร.ก. ทั้งที่เกี่ยวกับทรัพยากร การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การประมงทะเล การประกอบกิจการประมง การประกอบกิจการอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แรงงาน เรือ การเดินเรือ เป็นต้น หลายฉบับเป็นกฎหมายเก่าที่ควรมีการปรับปรุงให้เหมาะสมทันสมัย เนื่องจากหลักคิดและสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิง รวมทั้งบางฉบับก็ตราขึ้นด้วยความเร่งรีบ ไม่ได้รับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด

ความจำเป็นประการต่อมา ชาวประมงและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ต้องประสบปัญหาในการค้นคว้าและค้นหากฎหมายที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก บางครั้งต้องกลายเป็นผู้กระทำผิดด้วยเหตุของการไม่รู้กฎหมายโดยไม่รู้ตัว จึงควรมีการทำให้เป็นระบบ ค้นคว้าทำความเข้าใจได้โดยสะดวก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชาวประมงและผู้ประกอบการในการปฏิบัติให้ถูกต้อง และหากประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย จะเป็นกรณีศึกษาสำหรับการปรับปรุงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับประชาชนในภาคส่วนอื่นๆ ได้ในอนาคต

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐอย่างน้อย 5 กระทรวง ซึ่งถือว่ามีเป็นจำนวนมาก และเกี่ยวข้องกับภาคเอกชนกว่า 10 องค์กร จึงมีความจำเป็นต้องศึกษาทำความเข้าใจอย่างถี่ถ้วน

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ตนติดตามเรื่องนี้ ตระหนักเป็นอย่างดีว่า ทุกพรรคการเมืองต้องการแก้ไขเรื่องประมง แต่ในแต่ละกลุ่มประมงเองก็มีความเห็นไม่ตรงกันต่อแนวทางการแก้ไขปัญหา จึงมองว่า กมธ.วิสามัญชุดนี้ จะเป็นโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามาศึกษากฎหมายทั้งระบบร่วมกันให้ตกผลึก หาฉันทามติ ก่อนจะพิจารณาแก้ไขกฎหมายฉบับใดหรือมาตราใด อย่างรอบคอบชัดเจน ใช้รัฐสภาเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยกัน

สำหรับ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาและเสนอแนะการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมงทั้งระบบฯ จะมีกรอบระยะเวลาในการศึกษา 60 วัน โดยสัดส่วนกรรมาธิการจากพรรคก้าวไกล มีองค์ประกอบที่หลากหลายจากภาคส่วนต่างๆ ดังนี้

...

(1) ณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สส.สมุทรสาคร เขต 1 พรรคก้าวไกล

(2) วรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
(3) พงศธร ศรเพชรนรินทร์ สส.ระยอง เขต 3 พรรคก้าวไกล
(4) วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการประมงนอกน่านน้ำไทย
(5) ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย
(6) นิธิวัฒน์ ธีระนันทกุล นายกสมาคมยุติธรรมประมงไทย
(7) มงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร
และ (8) นัฐวุฒิ กาเซ็ม มูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม (EJF)