รมว.เกษตรฯ เยี่ยมชมการเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย พื้นที่มรดกทางการเกษตรโลกแห่งแรกของไทย ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชน
วันที่ 14 ต.ค. 66 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เยี่ยมชมการเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย พื้นที่มรดกทางการเกษตรโลก (Globally Important Agricultural Heritage System : GIAHS) แห่งแรกของประเทศไทย ณ จุดชมวิว (บ้านแฝด) ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ซึ่งการเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย เป็นระบบการทำการเกษตร (ปศุสัตว์) ที่สืบทอดมายาวนานมากกว่า 250 ปี มีเอกลักษณ์โดดเด่นอยู่ที่การอยู่ร่วมกันของชุมชนกับธรรมชาติ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ วิวัฒนาการของทำการเกษตรอย่างยั่งยืน และการอนุรักษ์ระบบนิเวศให้สมดุล โดยเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization: FAO) ได้ประกาศรับรองพื้นที่ดังกล่าวเป็นมรดกทางการเกษตรโลก
...
สำหรับพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย ตั้งอยู่บริเวณทิศเหนือของทะเลสาบสงขลา เป็นทะเลสาบแบบลากูน เชื่อมลุ่มน้ำปากพนังและลุ่มน้ำสงขลาเข้าด้วยกัน ซึ่งภายในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยประกอบไปด้วยระบบนิเวศย่อยมากมาย อาทิ ป่าพรุ ทุ่งหญ้า เนินสูง และบึงน้ำ ส่งผลให้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โดยเฉพาะการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกน้ำมากกว่า 200 สายพันธุ์ และเป็นจุดพักของนกอพยพตามเส้นทางการบินของเอเชียตะวันออกถึงออสเตรเลีย นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่มีสถานะอนุรักษ์และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ส่งผลให้พื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าและพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar site) แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งบทบาทสำคัญในระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยยังทำหน้าที่นิเวศบริการหล่อเลี้ยงผู้คนกว่า 50,000 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 จังหวัดทางภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช (ตำบลเคร็งและตำบลแหลม) จังหวัดพัทลุง (ตำบลทะเลน้อยและตำบลพนางตุง) จังหวัดสงขลา (ตำบลบ้านขาว) ที่พึ่งพิงอาศัยทรัพยากรจากพื้นที่ชุ่มน้ำโดยตรง ก่อให้เกิดวิถีการทำการเกษตรที่หลากหลายและมีอัตลักษณ์โดดเด่น เช่น วิถีการเลี้ยงควายปลัก การทำหัตถกรรมกระจูด การปลูกข้าว “นาริมเล” และการทำประมงโดยใช้ยอยักษ์เป็นเครื่องมือทำการประมง เป็นต้น
ทั้งนี้ การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย สะท้อนสมดุลระหว่างวิถีชีวิตคนกับระบบนิเวศและการปรับตัวเพื่อให้สามารถทำกินในพื้นที่อนุรักษ์ได้อย่างเหมาะสม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร กระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น ช่วยยกระดับการท่องเที่ยวของจังหวัดให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบเกษตรที่สำคัญของโลก และจะนำไปสู่การแผนจัดการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนที่สร้างสมดุลทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมตามเกณฑ์มาตรฐานสากลต่อไปให้อนาคต โดยพื้นที่ดังกล่าว มีเกษตรกรผู้เลี้ยงควาย 228 ราย จํานวนควาย 4,480 ตัว และมีกลุ่มผู้เลี้ยงควาย 17 กลุ่ม
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ในการจัดการทรัพยากรทางการเกษตร เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหาร รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดความยั่งยืน ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชน นอกจากนี้ ยังมอบหมายกรมชลประทาน บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมเจ้าท่า โยธาธิการจังหวัด และหน่วยพัฒนาเคลื่อนที่ นำเครื่องจักรเครื่องมือมาดำเนินการขุดลอกคลอง เพื่อเก็บกักวัชพืชที่ทำลายระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้เยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณี (Varni) ซึ่งเป็นหนึ่งในวิสาหกิจชุมชนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ สร้างความมั่นคงในอาชีพ ก่อตั้งขึ้นโดย นางวรรณี เซ่งฮวด ภายใต้การส่งเสริมของสำนักงานเกษตรอำเภอควนขนุน และสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง มีผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น คือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกระจูด ผ่านแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ผสมผสานระหว่างภูมิปัญญา เทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงการนำวัสดุอื่นๆ จนได้ผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม แปลกใหม่ และมีคุณภาพ นำมาสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กระจูด และสร้างงานให้คนในชุมชนกว่า 200 คน นำรายได้เข้าสู่ชุมชนกว่าปีละ 4 ล้านบาท