"ทนายเเจม" เผย ความเหลื่อมล้ำการสอบคัดเลือกผู้พิพากษาที่หลายคนยังไม่รู้ โวย "อิทธิพล คุณปลื้ม" กลับได้ประกันตัว ทั้งๆ ที่มีประวัติหลบหนี ขณะที่ "อานนท์ นำภา" วืด-นอนคุก แม้เลี้ยงลูกอยู่บ้าน ไม่คิดหนี


วันที่ 11 ต.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภา เพื่อพิจารณารับทราบรายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครอง น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ หรือ "ทนายเเจม" สส.กทม. พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำในการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาตอนหนึ่ง ว่า สำหรับสนามสอบแข่งขันมี 3 สนาม 1. สนามใหญ่ ต้องสอบผ่านเนติบัณฑิต จบปริญญาตรี ประกอบอาชีพด้านกฎหมาย 2 ปี 2. สนามเล็ก ต้องสอบผ่านเนติบัณฑิต หรือจบปริญญาโท กฎหมาย 3. สนามจิ๋ว ต้องสอบผ่านเนติบัณฑิต และจบปริญญาตรีกฎหมายจากต่างประเทศ หลักสูตรไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือว่าจบปริญญาโทด้านกฎหมายต่างประเทศหลักสูตรไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือจบปริญญาเอกมหาวิทยาลัยในไทย ถ้าสนามใหญ่และสนามจิ๋ว เปิดสอบคนละรอบ สามารถใช้วุฒิปริญญาตรีไปสอบสนามใหญ่ได้อีก หมายความว่า ถ้าจบเนติบัณฑิต จบโทกฎหมายต่างประเทศตามเงื่อนไขนี้ จะมีสิทธิสอบได้ 3 สนาม แต่ถ้าใครจบโทประเทศไทย จะสอบได้ 2 สนาม สำหรับคนเบี้ยน้อยหอยน้อย เรียนได้แค่ประเทศไทย ก็อาจสอบได้แค่สนามใหญ่สนามเดียวเท่านั้น
 
น.ส.ศศินันท์ อภิปรายอีกว่า ยิ่งไม่นานมานี้ มีการแชร์ผ่านโลกโซเชียลว่า ผู้ที่สอบผ่านข้อเขียนสนามจิ๋วแต่ละตำแหน่ง ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาปี 2561 มีจำนวน 21 คน ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพ และหลายๆ คนอาจรู้กันว่า ถ้าเรียนจบปุ๊บ เราจะใช้ช่องทางแบบฟาสต์แทร็ก ในการไปเรียนต่างประเทศ เพื่อกลับมาสอบผู้พิพากษาสนามจิ๋วได้เลย คะแนนสอบสนามจิ๋ว ให้น้ำหนักกับการสอบภาษามากกว่า โดยสัดส่วนคะแนนวิชากฎหมายจะน้อยกว่า ส่วนสนามใหญ่ จะเน้นที่กฎหมายมากที่สุด ในปี 2560 การสอบสนามใหญ่มีผู้ผ่านการคัดเลือก 33 คน จาก 7 พันคน ขณะที่สนามจิ๋วในปีเดียวกัน มีผู้ผ่านการคัดเลือก 116 คน จากผู้สมัคร 348 คน ปี 2561 อัตราการสอบผ่านสนามใหญ่ อยู่ที่ 1.76 เปอร์เซ็นต์ สนามเล็ก 1.40 เปอร์เซ็นต์ สนามจิ๋ว ผ่าน 22.18 เปอร์เซ็นต์ จากสถิติจะเห็นความเหลื่อมล้ำในการสอบคัดเลือกผู้ช่วยผู้พิพากษา ในสนามจิ๋วมีโอกาสมากกว่า 10 เท่าเป็นอย่างน้อย
 
“หรือแม้กระทั่งการเก็บคดี ก็มีการไปขอเก็บคดีเหมือนกัน ในวงการนักศึกษากฎหมายรู้สิ่งนี้เป็นอย่างดี แต่ประชาชนหลายๆ คนไม่ทราบเรื่องนี้ ว่าพอจบมาปุ๊บ ไม่ได้ว่าความจริง ก็มี มาขอเก็บคดีตามศาลเพื่อให้ได้คดีตามจำนวนที่จะสอบผู้พิพากษาได้ และก็เอาเวลาไปอ่านหนังสือสอบ แล้วก็มาเป็นผู้พิพากษาที่มานั่งตัดสินชะตาชีวิตพวกเรา ทุกวันนี้ด้วยความเหลื่อมล้ำกระทบวนการสอบ การเก็บคดี หรือว่าเรื่องเบี้ยประชุม หรือสวัสดิการต่างๆ สิ่งที่เราได้คือ ความเหลื่อมล้ำในการตัดสิน ในการให้ดุลพินิจในการประกันตัวแต่ละคดี นายอานนท์ นำภา ทนายความและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง มาตรา 112 จำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา ไม่ให้ประกัน ทั้งๆที่ไม่เคยหลบหนีไปไหน เลี้ยงลูกอยู่บ้าน กรณี วารุณี จำคุก 1 ปี 6 เดือน ไม่ให้ประกัน บอกว่าเชื่อว่าจะหลบหนี ทั้งๆ ที่ไม่เคยหลบหนี ในขณะเดียวกัน นายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีต รมว.วัฒนธรรม กลับให้ประกันตัว ทั้งๆที่มีประวัติหลบหนี อยากจะให้เห็นว่าด้วยกระบวนการคัดเลือกผู้พิพากษา ด้วยการใช้งบประมาณต่างๆ สิ่งที่ประชาชนได้ มันคุ้มค่ากับสิ่งที่ประชาชนเสียหรือไม่”

...