“วราวุธ” จ่อหารือพรรคร่วมรัฐบาล-พรรคการเมืองอื่น ส่งร่างนิรโทษกรรมประกบก้าวไกลหรือไม่ ยัน ชาติไทยพัฒนาหนุนแก้รัฐธรรมนูญ ไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 แนะ ใช้แนวทางตามฉบับปี 2540

วันที่ 9 ตุลาคม 2566 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล ยื่นร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ว่า เป็นสิทธิของพรรคการเมืองในฐานะที่มี สส. เพียงพอที่จะเสนอกฎหมาย ในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนา เห็นว่ามีบางส่วนที่หากเป็นประชาชนทั่วไปเราเห็นด้วย แต่ในกรณีที่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เราคิดว่าไม่ควรเป็นส่วนหนึ่งของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม รวมถึงความผิดทางอาญาร้ายแรง หรือแม้กรณีการทุจริต ก็ไม่ควรที่จะได้รับการนิรโทษกรรม 

ผู้สื่อข่าวถามต่อ พรรคชาติไทยพัฒนาจะเสนอร่างประกบหรือไม่ นายวราวุธ ระบุว่า ตอนนี้พรรคยังไม่ได้หารือกันในเรื่องการเสนอร่างประกบ ซึ่งพรรคชาติไทยพัฒนา มี 10 เสียง ยังไม่เพียงพอในการที่จะเสนอร่างกฎหมาย แต่ก็ต้องหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล หรือพรรคอื่นก่อนว่ามีแนวทางกันอย่างไร

ส่วนกรณีคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ จะประชุมนัดแรกในวันที่ 10 ตุลาคมนี้ เพื่อวางกรอบต่างๆ ในการทำประชามติ ได้กำชับอะไร นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรค ในฐานะผู้แทนของพรรคชาติไทยพัฒนาอย่างไรหรือไม่ นายวราวุธ เผยว่า มีการพูดคุยและเห็นตรงกันว่าต้องมีการทำประชามติ แต่จะทำกี่ครั้ง การที่จะทำให้รวดเร็วที่สุด และประหยัดที่สุดนั้น คือสิ่งที่ทุกคนต้องการ ซึ่งต้องคำนึงด้วยว่ารวดเร็วและประหยัดที่สุดจะส่งผลทำให้สำเร็จหรือไม่ ไม่อยากจะให้กลายเป็นว่า เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย 

...

ทั้งนี้ หากทำประชามติแบบประหยัดแล้วไม่ผ่านกลไกทางกฎหมาย หรือไม่ถูกต้องตามกระบวนการ ก็แปลว่าแบบที่ประหยัดนั้นมันเสียเปล่า ฉะนั้น การดำเนินการคงต้องหารือทุกฝ่ายอย่างรอบคอบว่าสามารถทำแบบประหยัดแล้วขัดต่อกฎหมายหรือมาตรการใดหรือไม่ ถ้าหากไม่ขัดข้อง แล้วทำสำเร็จได้ แน่นอนว่าทุกฝ่ายอยากทำให้เร็วที่สุดและประหยัดเงินที่สุด เพราะการทำประชามติแต่ละครั้งก็ใช้เงินหลายพันล้านบาทอยู่

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนา เราเห็นด้วยกับการที่จะร่างรัฐธรรมนูญตามแนวทางปี 2540 ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และไม่แตะต้องหมวด 1 กับหมวด 2 ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และต้องดำเนินการถูกต้องตามกระบวนการ ซึ่งพรรคชาติไทยพัฒนา เรามีหนังสือที่รวบรวมเอกสารขั้นตอนการทำที่มาของรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็จะได้นำมาเป็นข้อมูลและแนวทางให้กับคณะกรรมการชุดปัจจุบันในการเดินหน้าต่อไป.