"หมออ๋อง" ปดิพัทธ์ เผย "สุพิศาล-อมรัตน์" แจ้งลาออกจากคณะทำงานแล้ว เหตุมีตำแหน่งทางการในก้าวไกล คาด ตนเองหาสังกัดพรรคใหม่ได้ภายใน 15 ต.ค.นี้ หากการพูดคุยไปได้ด้วยดี

วันที่ 4 ต.ค. ที่รัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่ 1 กล่าวถึงกรณี หาสังกัดพรรคการเมืองใหม่ หลัง พรรคก้าวไกล (ก.ก.) มีมติขับออกจากพรรค ว่า อยู่ในช่วงเริ่มพูดคุย เพราะการจะไปอยู่พรรคไหนต้องเห็นด้วยกับนโยบายและอุดมการณ์ของพรรค ซึ่งพรรคก็ต้องพูดความคาดหวังให้ชัดเจน เพราะก็อยากทำให้เป็นประโยชน์กับพรรคใหม่ ฉะนั้นไม่ใช่กระบวนการที่จะคุยกันสั้นๆ แต่ต้องทยอยคุย

เมื่อถามว่า พรรคเป็นธรรมอยู่ในใจหรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า มีพรรคให้เลือกเยอะ ซึ่งตอนนี้มีพรรคร่วมฝ่ายค้าน 2 พรรค และพรรคการเมืองนอกสภาที่กำลังพิจารณาข้อเสนออยู่ แต่ขอย้ำว่า พรรคฝั่งรัฐบาลไม่ต้องติดต่อมา เพราะเสียเวลา

เมื่อถามว่า จะหาพรรคการเมืองสังกัดใหม่ได้เมื่อไหร่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่ามีเวลา 30 วัน คือภายในวันที่ 28 ต.ค. แต่ถ้าการพูดคุยเป็นไปได้ด้วยดี คาดว่าภายในวันที่ 15 ต.ค. ก็จะมีความชัดเจน

เมื่อถามว่า หลังถูกขับออกจากพรรคก้าวไกล คณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาจะต้องมีการทำอย่างไร นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า คนที่มีตำแหน่งบริหารในพรรคก้าวไกล อย่าง พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รองหัวหน้าพรรค ได้ยื่นลาออกจากคณะทำงานแล้ว ส่วนนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ได้แจ้งลาออกด้วยวาจา แล้วจะกลับมาเซ็นเอกสารหลังกลับจากต่างประเทศ

...

นายปดิพัทธ์ กล่าวต่อว่า หากใครที่มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการในพรรคก้าวไกล จะต้องลาออกทั้งหมด แต่ถ้าใครมีแค่ความสัมพันธ์กับพรรค ก็ไม่ต้องลาออก เพราะกฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ แต่ในความเหมาะสมคงต้องมีการพูดคุยกัน เพราะการอยู่ในทีมทำงานของตน อาจมีทั้งคนภายนอก และคนจากหลายพรรค จึงต้องทำทุกอย่างให้โปร่งใส โดยจะมีการเปิดเผยหลังจากนี้ ขอเวลาเคลียร์สักนิด

เมื่อถามถึงกรณีวิปรัฐบาล มีมติเตรียมยื่นการถูกขับออกของนายปดิพัทธ์ ให้องค์กรอิสระวินิจฉัย จะถือเป็นการแทรกแซงกระบวนการนิติบัญญัติ หรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า หากย้อนกลับไปดูคำแถลงที่เคยประกาศไว้ว่า เราจำเป็นต้องฟื้นฟูองค์กรนิติบัญญัติให้ไม่อยู่ภายใต้อาณัติของรัฐบาล และตุลาการ 3 อำนาจอธิปไตยต้องถ่วงดุล มีอิสระและความรับผิดชอบต่อกัน จึงคิดว่าสามารถจัดการเรื่องภายในองค์กรนิติบัญญัติได้ หากเราต้องพึ่งพาองค์กรที่เต็มไปด้วยคำถามถึงความเป็นกลางทางการเมือง โดยเฉพาะองค์กรที่สืบทอดอำนาจจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็จะเป็นประเด็นที่สังคมต้องถามถึงบทบาทต่างๆ ของฝ่ายการเมือง