"ธัญวัจน์" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แนะ รัฐบาลพิจารณาศึกษาคำโฆษณาไม่ให้ผู้บริโภคนับถือตัวเองต่ำลง แก้ปัญหา “Body Shaming” ชี้ เป็นความรุนแรงของโลกทุนนิยม ต่อสตรีที่สังคมต้องให้ความสำคัญ
เมื่อวันที่ 3 ต.ค.66 นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า จากกรณีเพจไทยคู่ฟ้า ได้เผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับ “Slut Shaming” การประณามหยามเหยียดผู้หญิงที่มีพฤติกรรมทางเพศ และ “Body Shaming” หรือการวิจารณ์หน้าตาร่างกายผู้อื่น อาจจะเข้าข่ายความผิดฐาน “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328
นายธัญวัจน์ กล่าวต่อว่า จากกรณีดังกล่าว ตนขอชื่นชมสื่อจากรัฐบาลที่ให้ความสำคัญปัญหาดังกล่าว ถือเป็นประเด็นความรุนแรงของโลกทุนนิยมต่อสตรี ซึ่งเรามีพื้นที่น้อยมากที่จะสื่อสารกันในสังคม เพราะการกำหนดคุณค่าความงามตามเทรนด์จากผู้กำหนดเทรนด์ (Trend Setter) ของโลกทุนนิยม เช่น ผิวที่สวยจะต้องเป็นผิวขาว หุ่นที่ดีจะต้องผอมไร้ไขมัน หรือมีไขมันต้องกำจัด เพราะมันคือศัตรูตัวร้ายของความงาม ซึ่งเป็นการสื่อสารความรุนแรงของทุนนิยมในรูปแบบหนึ่ง ที่ได้กระทำต่อสตรี ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อ นำมาสู่การลดทอนคุณค่าความสุขในการนับถือตนเองไป (Self Esteem)
"ในสมัยก่อนบนเวทีนางงาม เราจะเห็นการชื่นชมนางงามที่มีใบหน้ากลมอวบอิ่ม แต่พอมาในยุคนี้เรากลับชื่นชมนางงาม ดารา คนดัง ที่มีใบหน้าเรียวเล็ก สะท้อนว่าความงามนั้นเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ได้เป็นความจริงเที่ยงแท้ถาวร และการเปลี่ยนแปลงนั้นก็เกิดจากผู้กำหนดเทรนด์เพื่อการตลาด ที่ให้ความงามเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจได้" นายธัญวัจน์ กล่าว
...
นายธัญวัจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ปัญหา "Slut Shaming" และ “Body Shaming” จะต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ควรมีพิจารณาข้อห้ามการโฆษณาชวนเชื่อด้านความสวยความงามในปัจจุบันเพียงพอแล้วหรือไม่ หรือควรจะมีการกำหนดมาตรการข้อห้ามการสื่อสารคำโฆษณาเพิ่มเติมอื่นๆ และไม่ใช่การกำหนดข้อความโฆษณาเท่านั้น ต้องให้ความสำคัญกับภาพที่มีการนำเสนอ เพื่อสร้างคุณค่าไม่ให้ผู้บริโภคที่ได้เสพการโฆษณานับถือตัวเองต่ำลง ควรทำการศึกษาพิจารณาเพื่อให้สื่อโฆษณาปลอดภัย และทำให้ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับความหลากหลายมากขึ้น
"หากวันนี้สังคมยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ร่างกายผู้อื่น สื่อต่างๆ มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้ปลอดภัยปราศจากความรุนแรง เราควรสร้างความตระหนักต่อสตรี การรับรู้และตัดสินใจตอบคำถามตนเองได้ว่า เราสวยเพื่อใคร เพื่ออะไร เป็นการเสริมความเป็นตนเอง หรือตกเป็นทาสกระแสทุนนิยม เพราะนี่อาจเป็นความเหลื่อมล้ำของผู้หญิงทั้งด้านเศรษฐกิจและเวลา ซึ่งหากเราต้องการตั้งเป้าหมายของความเท่าเทียมทางเพศ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs เราต้องพูดเรื่องความรุนแรงของสตรีในโลกทุนนิยมในทุกมิติ และหาทางออกจากวังวนนี้" นายธัญวัจน์ กล่าว...