ต้องยอมรับว่า นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน กำลังโหมทำงานหนักแทบจะไม่ได้พักผ่อน เพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามสัญญาที่ให้ไว้ต่อคนไทยทั้งประเทศ ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ยังน่าเป็นห่วง นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ เปิดเผยว่าศูนย์ปรับลดเศรษฐกิจไทย

จากที่เคยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะโต 3.6% ในปี 2566 ลดเหลือ 3.0% เพราะการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพีในไตรมาส 2/66 เป็นการชะลอตัวมากกว่าที่คาด เพราะการส่งออกหดตัว จากเดิมที่คาดว่าจะโต 1.2% เงินเฟ้อลดเหลือ 1.8% จาก 3.0% หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง 89.5% การจัดทำงบปี 2567 ล่าช้า ภัยแล้ง และกำลังซื้อลดลง

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกอยู่บ้าง เช่น การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เพิ่มมากขึ้นเกินคาด จากนโยบายฟรีวีซ่าให้คนจีนและคาซัคสถาน 5 เดือน การบริโภคเอกชนสูงขึ้น การนำเข้าสินค้าลดลง และนโยบายแจกเงินหัวละหมื่นบาท

จากการสำรวจความเห็นของประชาชน เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและการเมือง มีคนมีความกังวลมากขึ้นกว่า 72% เพราะไม่มั่นใจในมาตรการและเสถียรภาพรัฐบาล จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นมากขึ้น แต่สถานการณ์การเมืองขณะนี้ไม่น่าจะมีอะไรขัดแย้งมากมาย นอกจากวงการตำรวจ

ขณะนี้ไม่น่าจะมีปัญหาการเมืองเรื่องใดที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง อาจจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งไม่น่าจะก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง เพราะทุกฝ่ายต่างเห็นด้วยกับการแก้ไข หรือการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งอาจต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง เพื่อถามความเห็นประชาชน เพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม

ในเวทีเสวนาของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีแสดงปาฐกถาในหัวข้อที่น่าสนใจคือ ปัญหาสังคม ความแตกแยก ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เสมอภาค ความไม่เท่าเทียม เป็นปัญหาที่หมักหมมมาช้านาน และอาจเป็นต้นตอของปัญหาทั้งหมด และยอมรับว่าไทยมีความเหลื่อมล้ำ สูงสุดประเทศหนึ่ง

...

นายกรัฐมนตรีไม่ได้ฟันธงว่า จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างไร บางคนเชื่อว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยก็อาจมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียม เพราะรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย จะก่อให้เกิดกฎหมายและมาตรการต่างๆในการกระจายรายได้และสร้างความเป็นธรรม ในสังคม.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม