“วราวุธ ศิลปอาชา” แนะ เคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง หลังหมอพรทิพย์ถูกไล่ที่ไอซ์แลนด์ สั่ง ปลัด พม.เตรียมเจ้าหน้าที่รับมือผลกระทบหลังน้ำท่วม เน้นดูแลกลุ่มเปราะบาง เหน็บก้าวไกลขับ “หมออ๋อง” เป็นแท็กติกที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เย้ย ไม่รู้ใครเป็นคนคิด

วันที่ 1 ต.ค. 2566 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้สั่งการ ทุกหน่วยงานให้ความช่วยเหลือประชาชนในทุกพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม ว่า กระทรวง พม.มีส่วนในมิติของการเยียวยา และสิ่งต่างๆ ที่จะตามมาหลังจากสถานการณ์ผ่านไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลที่อยู่อาศัย การบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ในส่วนของถุงยังชีพ การช่วยเหลือเรื่องของสภาพจิตใจว่าเมื่อน้ำท่วมแล้วความเสียหายที่เกิดขึ้นมีความกระทบกระเทือนอย่างไรบ้าง สถานะครอบครัว ความเป็นอยู่ของกลุ่มเปราะบาง ทั้งเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ได้รับผลกระทบอย่างไร 

นายวราวุธ กล่าวว่า ตนได้ขอให้ทาง นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เร่งหาข้อมูลและเตรียมตัวรับสถานการณ์ว่าพื้นที่ใดจะมีน้ำท่วมบ้าง ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ขอให้เพื่อนข้าราชการ พม.ในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศได้เตรียมตัวต่อไป ต้องสำรวจประชากรก่อนว่ากลุ่มเปราะบางมีอย่างไรอยู่ที่ใดบ้าง และโอกาสที่จะได้รับผลกระทบเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อเตรียมตัวช่วยเหลือหลังน้ำลด

นายวราวุธ ยังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคก้าวไกลขับ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนจากพรรคก้าวไกล ออกจากพรรค เกิดเสียงวิจารณ์เป็นแท็กติกทางการเมือง ว่า การที่ นายปดิพัทธ์ โดนขับออกจากพรรคก้าวไกล ก็ยังต้องหาพรรคการเมืองสังกัดอยู่ได้ภายใน 30 วัน โดยที่ไม่เสียสิทธิ์การเป็น สส. ซึ่งการทำเช่นนี้ก็เข้าใจได้ ถ้าต้องการรักษาตำแหน่งรองประธานสภาบวกกับสถานะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ 

...

“ผมอยู่กับการเมืองมาตั้งแต่เล็ก ก็ต้องชมว่าการทำแท็กติกนี้ เป็นแท็กติกที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมทางการเมือง ไม่รู้ใครเป็นคนคิด แต่ก็เข้าใจคิดดีมาก ในการที่จะรักษาสถานะผู้นำฝ่ายค้านและรองประธานสภา ผมไม่ขอออกความเห็นว่าดีหรือไม่ เป็นอย่างไร แต่ในทางกฎหมายแล้วไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมาย เป็นสิทธิ์ของแต่ละพรรคการเมืองที่จะดำเนินการ ส่วนเรื่องของความเหมาะสม การเมืองถ้าไม่ผิดกฎหมายก็อยู่ในวิสัยของสมาชิกแต่ละท่านที่จะดำเนินการ” นายวราวุธ กล่าว

นอกจากนี้ นายวราวุธ ยังกล่าวถึงกรณีที่เกิดเหตุการณ์กับ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สว. ในประเทศไอซ์แลนด์ ว่า ตนคิดว่าในสังคมประชาธิปไตย คำว่าประชาธิปไตยหัวใจคือการเคารพในความแตกต่างทางความคิด หากคุณคิดอย่างนึง อีกคนคิดอย่างนึง ต่างคนต่างว่ากันไป นั่นคือประชาธิปไตย ฝ่ายค้านคิดอย่าง ฝ่ายรัฐบาลคิดอย่าง แต่ถ้าหากว่าคุณคิดต่างกันแล้วนำความคิดนั้นไปบูลลี่ หรือไปแสดงกิริยามารยาทอะไรก็แล้วแต่ที่ไม่เหมาะสมกับบุคคลอื่นนั้น คุณไม่ต่างอะไรกับเผด็จการเลย 

ดังนั้นแนวความคิดของใครก็แล้วแต่ การจะปฏิบัติต่อคนอื่น หรือแม้แต่คนที่เป็นลูกค้า ในกรณีที่เกิดขึ้นเป็นผู้ประกอบกิจการร้านอาหารกับลูกค้า ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการก็ควรจะมีจิตใจที่มีเซอร์วิสมายด์มากกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยู่ในประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูง ควรศึกษาแนวทางประชาธิปไตยของประเทศนั้นแล้วใช้เป็นแนวทางในการทำงานจะดีกว่า เพราะเมื่อเกิดเหตุขึ้นมาอย่างที่เห็นก็ไม่ได้เป็นผลดีต่อใคร และไม่รู้ด้วยว่าจะมีมาตรการทางกฎหมายใดตามมาด้วยหรือไม่

นายวราวุธ กล่าวว่า การทำอะไรที่ไม่ได้ยั้งคิด อาจจะสะใจแน่นอน คนเชียร์ก็เยอะ คนเห็นต่างก็มาก แต่ที่สำคัญจะกระทบกับการประกอบอาชีพของบุคคลนั้น ขอแนะนำผ่านไปถึงทุกๆ คน ในการที่จะมีความคิดอะไรที่แตกต่างทางการเมือง เป็นสิ่งที่สามารถคิดได้ แตกต่างได้ แต่หัวใจสำคัญคือการเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างนั้น ไม่ไปบูลลี่กัน ไม่ว่าจะเป็นในโลกออนไลน์ หรือในโลกแห่งความเป็นจริง ควรจะต้องเคารพในความแตกต่างทางความคิดเห็นเหล่านั้น.