“เกรียง” รมช.มหาดไทย ติดตามการกู้ขบวนรถไฟตกราง คาด เย็นนี้เก็บกู้ได้ทั้งหมด พร้อมสำรวจความเสียหายพื้นที่น้ำท่วมแพร่ กำชับส่วนราชการเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชน

วันนี้ (1 ตุลาคม 2566) นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และคณะ เดินทางลงพื้นที่ติดตามการกู้ขบวนรถไฟ จากเหตุรถไฟด่วนพิเศษขบวนที่ 13 กรุงเทพอภิวัฒน์-เชียงใหม่ ตกราง เนื่องจากเกิดน้ำท่วมรางจากน้ำป่าทะลัก และดินสไลด์ ระหว่างสถานีแก่งหลวง ถึงสถานีบ้านปิน อำเภอรอง จังหวัดแพร่ ซึ่งจากการสอบถามเบื้องต้น เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งกู้ขบวนรถได้แล้ว 1 ขบวน และคาดว่าภายในเย็นวันนี้ จะสามารถเก็บกู้ขบวนรถได้ทั้งหมด สามารถเปิดบริการให้รถไฟวิ่งได้ตามปกติ

...

นายเกรียง กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (30 กันยายน 2566) ตนเองพร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัย ณ อ่างเก็บน้ำห้วยแม่แย้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมู่ที่ 9 บ้านแม่ยุ้น ตำบลปงป่าหวาย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ตามข้อสั่งการของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มีความเป็นห่วงประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม ซึ่งอ่างเก็บน้ำห้วยแม่แย้ ได้รับผลกระทบจากปริมาณฝนที่ตกหนัก ทำให้น้ำล้นสันอ่าง สูงประมาณ 1 เมตร สันอ่างที่เป็นทำนบดินถูกน้ำป่ากัดเซาะ ได้รับความเสียหาย น้ำล้นไหลลงลำห้วยแม่ยุ้น ทำให้ประชาชนหมู่ที่ 9 บ้านแม่ยุ้น ตำบลปงป่าหวาย ได้รับผลกระทบหลายครัวเรือน รวมถึงพื้นที่ทางการเกษตรและสิ่งสาธารณประโยชน์

หลังการลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กำชับให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เร่งให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วน โดยโครงการชลประทานจังหวัดแพร่ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ได้สนับสนุนเครื่องจักรกลในการซ่อมแซมทำนบดินบริเวณสันอ่างที่ได้รับความเสียหายแล้ว พร้อมเน้นย้ำว่า หลังจากฝนหยุดตกแล้วให้รถบดอัดทำนบดินบริเวณสันอ่างเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น 

“สถานการณ์น้ำท่วมได้ขยายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับมีปริมาณน้ำฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเรื่องการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบทันต่อสถานการณ์ พร้อมกับกำชับให้เตรียมแผนเผชิญเหตุในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก นำประสบการณ์ที่ผ่านมา เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที”

ต่อมา เวลา 13.00 น. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นางสาวประภาพร ทองปากน้ำ สส.สุโขทัย พรรคเพื่อไทย และนายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล สส.สุโขทัย พรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่จังหวัดแพร่ นั่งรถรางช่วยเหลือ ระยะทางกว่า 7 กิโลเมตร จากสถานีรถไฟบ้านปิน เพื่อไปยังบริเวณจุดเกิดเหตุ หลังเกิดน้ำป่าไหลหลาก ส่งผลให้ทางขาดเป็นระยะทางกว่า 700 เมตร และเกิดเหตุรถไฟตกราง

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า รถไฟสถานีนี้ในแต่ละวันจะไปกลับทั้งหมด 12 ขบวน เมื่อเกิดเหตุตกราง จึงส่งผลให้ผู้เดินทางได้รับความเดือดร้อน ดังนั้น ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เร่งดำเนินการแก้ปัญหา โดยคาดว่าน่าจะกลับมาใช้สัญจรได้ปกติในเวลา 18.00 น. ของวันนี้ เพราะมีรถขบวนใหญ่รออยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่จะผ่านเข้ากรุงเทพฯ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะพิจารณาเรื่องเขื่อนลำน้ำยมเพิ่มเติมหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เราจะเพิ่มระบบความปลอดภัย จะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ หรือสร้างอะไรที่ทดแทนกันได้ โดยจะนำข้อมูลทั้งหมดมาหารือกันเย็นนี้ที่จังหวัดสุโขทัย เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จากนั้น นายสมศักดิ์ พร้อมด้วย นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย และคณะ ลงพื้นที่อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ

ทางด้าน นายวรวัจน์ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในจังหวัดแพร่ มีฝนตกลงมาตั้งแต่วันที่ 26-29 กันยายนที่ผ่านมา ทำให้มีมวลน้ำสะสม ประกอบกับเกิดน้ำป่าหลาก จึงทำให้เวลานี้มวลน้ำสูงถึง 11.18 เมตร ส่งผลให้สถานการณ์น้ำมีความรุนแรงและอันตรายเป็นอย่างมาก จึงอยากให้จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดพิษณุโลก เตรียมความพร้อมในการรับมวลน้ำนี้ด้วย เพื่อช่วยกันลดผลกระทบกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

ขณะที่ นายสมศักดิ์ กล่าวเสริมว่า จากที่มาดูสถานการณ์น้ำจังหวัดแพร่ ก่อนจะไหลไปรวมที่จังหวัดสุโขทัย ทำให้ต้องเร่งเตือนพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำยม ให้เก็บข้าวของขึ้นที่สูง รวมถึงพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสุโขทัย คือ อำเภอเมือง อำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสัชนาลัย และอำเภอศรีสำโรง ต้องเตรียมตัวรับมือกับมวลน้ำด้วย โดยขณะนี้เบื้องต้นตนได้ประสานให้ทางจังหวัด เตรียมพร้อมในการรับมือมวลน้ำนี้แล้ว รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเป็นการเร่งด่วน เพราะตนต้องการให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบ และความเสียหายน้อยที่สุด