นายกฯเศรษฐา ทวีสิน กลับจากประชุมสหประชาชาติเมื่อเช้าวันอาทิตย์ เป็นนายกฯไม่ถึงเดือนก็ได้มีโอกาสไปเปิดตัวในเวทีสหประชาชาติ ท่ามกลางผู้นำทั่วโลกได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในสหประชาชาติ ได้พบกับ นายอันโตนิอู กุแตเรส เลขาธิการยูเอ็น ได้พบกับ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ และผู้นำอีกหลายประเทศ ได้พบกับผู้บริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง เทสลา กูเกิล ไมโครซอฟท์ ซิตี้แบงก์ เจพีมอร์แกน แบล็คร็อก เพื่อชักชวนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย
คำชักชวนของ นายกฯเศรษฐา ได้รับการตอบรับจากบริษัทบิ๊กเทค อย่างไร เป็นเรื่องที่นักธุรกิจไทยและนักลงทุนอยากรู้เป็นอย่างยิ่ง ประเทศไทยไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่จากต่างชาติมานานแล้ว แม้จะมี ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) ธุรกิจ New S-curve และ BCG ก็ตาม
นายกฯเศรษฐา ได้ตอบคำถามนักข่าวที่สนามบินสุวรรณภูมิถึง ธุรกิจที่ต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนมากที่สุด ว่าขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท เช่น เทสลา จะมาดูเรื่องการเปิดโรงงานผลิตรถยนต์อีวี ไมโครซอฟท์ กูเกิล ก็จะมาดูเรื่องการทำ ดาต้าเซ็นเตอร์ จะมีการลงทุนประมาณ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 180,000 ล้านบาท) ต่อรายสำหรับการลงทุนขั้นต้น นักข่าวถามต่อว่าได้ประเมินมูลค่าการลงทุนประมาณเท่าไหร่? นายกฯเศรษฐา ตอบว่า ประเมินลำบาก แต่บริษัทที่เกี่ยวกับการเงินอาจทำให้เกิดการลงทุนสูงมาก หากมาตั้งสำนักงานที่ประเทศไทย
ผมลองประเมินเม็ดเงินลงทุนคร่าวๆจากบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ เช่น เทสลา กูเกิล ไมโครซอฟท์ ที่ นายกฯเศรษฐา บอกว่าจะมาลงทุนเบื้องต้น รายละ 5,000 เหรียญสหรัฐฯ ราว 180,000 ล้านบาท แค่ 3 รายนี้ก็ประมาณ 540,000 ล้านบาทแล้ว ถือเป็นเม็ดเงินลงทุนมหาศาลเลยทีเดียว ยังไม่นับ กองทุน BlackRock บริษัทการเงินยักษ์ใหญ่ที่บริหารกองทุนทั่วโลกกว่า 9.43 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราว 340 ล้านล้านบาท ที่สนใจจะเข้ามาตั้งบริษัทในไทย (กองทุนไทยทุกกองทุนแทบจะไม่มีกองทุนไหนที่ไม่ถือหน่วยลงทุนของ BlackRock เลย)
...
แต่จากข่าวที่สำนักโฆษกเผยแพร่ออกมา อีลอน มัสก์ ซีอีโอ Tesla, SpaceX, Star Link ได้มีการพบกับ นายกฯเศรษฐา ผ่านวิดีโอลิงก์ ไม่ได้พบกันตัวเป็นๆแบบตัวต่อตัว แต่ นายกฯเศรษฐา ได้พูดคุยกับทีมงานของเทสลา เช่นเดียวกับ กูเกิล ไมโครซอฟท์ ต่อมา Elon Musk ได้โพสต์ลงใน X (ทวิตเตอร์) สั้นๆว่า “It was an honor to meet. Thailand has very exciting future!” และ X พรรคเพื่อไทย ได้แปลเป็นไทยและโพสต์ลงใน X ว่า “รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้พบกับนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยมีอนาคตที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก” ไม่มีตอนไหนที่ อีลอน มัสก์ ระบุว่า จะเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์เทสลาในไทย อาจจะเป็นทีมงานเทสลาที่พูดคุยกับ นายกฯเศรษฐา ก็ได้
การชักชวนบริษัทยักษ์ใหญ่โลกให้เข้ามาลงทุนในไทยไม่ใช่เรื่องง่าย ประเทศไทยยังมีกฎหมายที่เป็นอุปสรรคมากมาย อุปสรรคที่สำคัญที่สุดก็คือ “การทุจริตคอร์รัปชันทุกระดับ” ของ นักการเมือง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ลงไปถึงระดับล่าง ดัชนีการทุจริตคอร์รัปชันประเทศไทยยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องมา 9 ปี ไม่เคยลดลงเลย ทำให้ต่างชาติไม่สนใจมาลงทุนในไทย
ก่อนหน้านี้ปี 2561 ประเทศไทยเคยฝันหวานว่า “อาลีบาบา” เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จีนของ นายแจ็ค หม่า ที่ช่วยไทยขายทุเรียนหมอนทองไทยบนเว็บไซต์ 80,000 ลูก หมดภายใน 1 นาที อาลีบาบา จะเข้ามาตั้ง ศูนย์กระจายสินค้าในอีอีซีด้วยพื้นที่ขนาด 2 แสนตารางเมตร ด้วยเม็ดเงินลงทุนเบื้องต้นกว่า 13,000 ล้านบาท เพื่อเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าในอาเซียน แจ็ค หม่า บินมาเป็นแขกของนายกฯด้วยซ้ำ จากวันนั้นถึงวันนี้ ศูนย์กระจายสินค้าในอีอีซีของอาลีบาบาก็เงียบหายไปกับสายลม
ผมเชื่อว่า นายกฯเศรษฐา ก็รู้ดี เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย ทำไมบริษัทยักษ์ใหญ่โลกจึงบินข้ามหัวไทยแลนด์ไปลงทุนที่ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย เพื่อนบ้านไทยกันหมด
การพลิกฟื้นประเทศไทยจาก “หนึ่งทศวรรษที่หายไป” ใน ยุค คสช. ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีการแก้กฎหมายที่อยุติธรรม และ ปราบการคอร์รัปชันอย่างจริงจังเท่านั้น จึงจะสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้กลับมาได้อีกครั้ง.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม