“สุทธิพงษ์” ปลัดมหาดไทย เปิดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ชื่นชมผู้ประกอบการมุ่งมั่นผลิตและส่งชิ้นงานประกวดจำนวนมากขึ้น เน้นย้ำช่วยกันพัฒนาหีบห่อให้ทันสมัย สร้างมูลค่าและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
วันที่ 23 กันยายน 2566 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับภาค (รอบคัดเลือก) ที่ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ กทม. โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางกุลทรัพย์ ชื่นโกสุม อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมในพิธี รวมถึงคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า นับเป็นพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแนวพระดำริในการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนเกษตรกรในทุกถิ่นที่ชนบทห่างไกล ทรงเป็นผู้นำการสืบสาน รักษา และต่อยอด ภูมิปัญญาผ้าไทย อันเป็นการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับเอาโครงการพระราชดำริด้านผ้าและโครงการศิลปาชีพของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาเป็นพระราชภาระ ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการช่างทอผ้าตื่นตัวในการพัฒนาผลงาน ทั้งงานผ้าและงานหัตถกรรมให้เป็นที่ต้องการ เป็นที่ชื่นชอบของแฟชั่นสมัยนิยม อันจะทำให้ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นไปจุนเจือครอบครัวและดูแลตนเองในยามเจ็บไข้หรือยามชรา
...
“พระองค์ท่านทรงเพียรพยายามในการส่งเสริมเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี นับเนื่องตั้งแต่การพระราชทานผ้าลายพระราชทานผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา ผ้าลายดอกรักราชกัญญา ในการเสด็จทรงงานในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งในแต่ละปีกระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชน สนองพระดำริด้วยการจัดการประกวดผ้าลายพระราชทาน เพราะคำนึงถึงการพัฒนาคน เพื่อให้คนไปพัฒนาชิ้นงาน พัฒนาฝีมือของตนเอง ซึ่งสิ่งที่น่าชื่นชมยินดีปรากฏเป็นรูปธรรม คือ จำนวนชิ้นงานที่ส่งเข้าประกวดเพิ่มมากขึ้น ปีนี้มีถึง 7,086 ชิ้น ยืนยันถึงความสำเร็จของการทำงานสนองแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพราะทุกคนทุกฝ่ายทำให้คนไทยทั่วทุกภูมิภาคตื่นตัว มีส่วนร่วมอนุรักษ์งานศิลป์ของแผ่นดินไทยให้คงอยู่และมีคุณภาพที่ดีขึ้น เป็นมรดกให้ลูกหลานและเป็นเครื่องมือในการสร้างคุณภาพชีวิต”
ทางด้าน ดร.วันดี กล่าวเสริมว่า ตลอดระยะเวลา 3-4 ปีนี้ เราประสบความสำเร็จตั้งแต่การพัฒนาคุณภาพชิ้นงาน การออกแบบลวดลาย เลือกวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเชิญชวนให้พี่น้องช่างทอผ้า ผู้ประกอบการผ้า ที่มีความมุ่งมั่นสืบสานภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมไทย ได้เข้าใจ ภาคภูมิใจถึงการที่จะยึดเป็นอาชีพที่สร้างความยั่งยืน เพราะในขณะนี้ กระทรวงมหาดไทย กรมการพัฒนาชุมชน และสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ทำการรับรองกระบวนการผลิตที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเสียสู่ชั้นบรรยากาศ หรือคาร์บอนฟุตพรินต์ของผ้าไทย
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ครั้งแรกที่พระองค์ท่านพระราชทานพระดำริ จะทรงเน้นย้ำเรื่องการปฏิเสธผ้าไทยที่ใช้สีเคมี ใช้ไหมโรงงาน ด้วยเพราะพระองค์ท่านทรงมีพระประสงค์ที่จะให้ช่างทอผ้าได้นำพระราชดำริอันล้ำค่าที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการพึ่งพาตนเอง ทั้งการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกพืชให้สีธรรมชาติ ผ่านแนวพระดำริ Sustainable Fashion เพื่อที่จะทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน มีความมั่นคงในชีวิต ซึ่งเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มถือเป็นหนึ่งในความมั่นคงของชีวิต
ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังเผยถึงเรื่องที่น่ายินดีอีกเรื่อง คือ แม้จะมีชิ้นงานจำนวนมากที่ตกรอบ แต่ก็ทำให้เจ้าของชิ้นงานได้มีรายได้ นับถึงวันนี้มียอดสั่งซื้อสั่งจองผ้าไทยที่ตกรอบไปแล้วมากกว่า 2 ล้านบาท ทั้งนี้ มีผลงานที่ตกรอบอีกหลายชิ้นที่ศิลปินผู้ผลิตไม่ประสงค์จะจำหน่าย เพราะมีความภาคภูมิใจที่ครั้งหนึ่งได้มีส่วนร่วมในการน้อมนำลายผ้าพระราชทานมาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบลวดลายผ้าด้วยตัวเอง จึงต้องการเก็บไว้เป็นชิ้นงานเพื่อที่จะแสดงให้ผู้มาเยี่ยมเยือนหรือผู้เดินทางไปศึกษาดูงานได้เห็น
สำหรับการประกวดผ้าลายดอกรักราชกัญญา ผ้าผืนที่จะได้รับรางวัลชนะเลิศ จะถูกนำไปตัดฉลองพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จึงถือเป็นเรื่องที่มงคลที่สุดของชีวิตผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนี้อีกด้วย
พร้อมกันนี้ ขอให้ชาวมหาดไทย ชาวกรมการพัฒนาชุมชน มุ่งมั่นในการสนองพระดำริ ด้วยการทุ่มเทกำลังกาย สติปัญญา พัฒนาประชาชน ผู้ประกอบการ ถ่ายทอดกระบวนการที่พระองค์พระราชทานครบวงจร ซึ่งสิ่งที่เป็นจุดอ่อนที่ควรพัฒนาต่อ คือ Packaging (หีบห่อผลิตภัณฑ์) ให้ทันสมัย เมื่อรวมกันแล้วจะมีรายได้ไปจุนเจือเลี้ยงดูครอบครัว ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นเป้าหมายที่มุ่งมั่นทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุข รวมทั้งต้องช่วยกันให้กำลังใจผู้มีจิตอาสาที่อยากทำความดีให้สังคม หรือตั้งใจทำสิ่งที่ดีโดยไม่คิดค่าตอบแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน รวมถึงศิลปินดีไซเนอร์จิตอาสาในพื้นที่ต่างๆ ได้มีกำลังใจที่จะทำสิ่งที่ดี ไม่หยุดนิ่งที่จะทำดีต่อไป และขอเชิญชวนทุกคนทำสิ่งที่ดีถวายพระพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567
ขณะที่ นายอรรษิษฐ์ เปิดเผยว่า การประกวดผ้าลายพระราชทานผ้าลายดอกรักราชกัญญา และงานหัตถกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผ้าไทยให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์ความรู้ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการพัฒนาต่อยอดสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน และเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมแต่ละประเภทให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ซึ่งจากการดำเนินการประกวดผ้าลายพระราชทานผ้าลายดอกรักราชกัญญา และงานหัตถกรรม ระดับภาค ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค ณ จังหวัดเชียงใหม่ ราชบุรี สงขลา และอุดรธานี มีผ้าและงานหัตถกรรมที่ผ่านเข้ารอบประกวดระดับภาค (รอบคัดเลือก) ทั้งสิ้น 745 ชิ้น แบ่งเป็นประเภทผ้า จำนวน 662 ผืน และงานหัตถกรรม จำนวน 83 ชิ้น โดยคณะกรรมการฯ จะคัดเลือกผ้าให้คงเหลือ 150 ผืน และหัตถกรรมตามชิ้นงานที่เหมาะสม เพื่อเข้าประกวดระดับประเทศ รอบรองชนะเลิศ (Semi Final) ในวันที่ 29 กันยายน 2566 ณ ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์.