"ศาล รธน." ปัดชี้ขาดร่างแก้ รธน. 6 ก.ค.รอศาลเคาะกำหนดพยานให้การต่อศาล 4 ก.ค.นี้ โยน ''อานันท์'' ตัดสินใจมาเป็นพยานหรือไม่? อาจยื่นเพียงบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงก็ได้
วันที่ 1 ก.ค. นายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวชี้แจงกรณีที่ให้สัมภาษณ์ศาลรัฐธรรมนูญ อาจนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 6 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันนัดไต่สวนพยานคู่กรณีในคำร้องการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องมีการไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้อง และผู้ถูกร้องก่อนในวันที่ 5-6 กรกฎาคมนี้ เมื่อไต่สวนพยานเรียบร้อยแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญประมวลพยานหลักฐานว่ามีเพียงพอที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยได้หรือไม่ หากพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอก็จะนัดวันไต่สวนพยานบุคคลในครั้งต่อไป
ดังนั้นแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะไต่สวนพยานใน 2 วันดังกล่าวแล้ว ศาลเห็นว่าพยานเพียงพอที่นำจะไปสู่การวินิจฉัยได้แล้ว ศาลก็อาจจะกำหนดวันนัดฟังคำวินิจฉัยอีกครั้ง ซึ่งไม่ใช่เป็นวันที่ 6 กรกฎาคมตามที่มีข่าวก่อนหน้านี้แต่อย่างใด
นายสมฤทธิ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีการประชุมเพื่อพิจารณากำหนดว่าพยานบุคคลที่คู่กรณีได้เสนอมา 20 ปากนั้น ศาลจะกำหนดพยานบุคคลรายใดบ้าง ที่จะมาไต่สวนต่อหน้าศาลในวันที่ 5-6 กรกฎาคมนี้ ทั้งนี้ พยานทุกปากจะต้องให้การต่อศาลโดยเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง หรือความเห็นล่วงหน้าต่อศาล ตามประเด็นที่ศาลกำหนดหรือที่คู่กรณีฝ่ายที่ร้องขอกำหนดและศาลอนุญาต โดยจะต้องส่งสำเนามายังศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 2 กรกฎาคมนี้ ก่อนการไต่สวนพยาน เพื่อให้คู่กรณีได้สำเนาแลกเปลี่ยนบันทึกถ้อยคำ ยืนยันข้อเท็จจริงของพยาน ก่อนวันนัดสืบพยานบุคคลมาไต่สวน
ผู้สื่อข่าวถามถึงนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี จะถอนตัวออกจากการเป็นพยานฝ่ายผู้ร้องได้หรือไม่ นายสมฤทธิ์ กล่าวว่า นายอานันท์เป็นพยานของฝ่ายผู้ร้องที่อ้างโดย พล.อ.สม เจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา เพื่อให้มาเบิกความต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้กำหนดว่าจะให้พยานบุคคลรายใดมาเบิกความต่อ ศาลซึ่งต้องรอในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ก่อน
อย่างไรก็ตาม พยานบุคคลที่คู่กรณีได้อ้างถึงนั้น อาจไม่มาเบิกความต่อศาลได้ รวมถึงกรณี นายอานันท์ หากไม่ประสงค์จะมาให้การในฐานะพยานฝ่ายผู้ร้อง ก็เป็นสิทธิของนายอานันท์ที่จะทำได้ หากพยานบุคคลรายใดเมื่อศาลเรียกมาให้การต่อหน้าแล้ววันนัดสืบพยาน พยานบุคคลรายนั้นไม่มา ศาลก็จะไม่สามารถนำสืบพยานบุคคลรายนั้นได้ ซึ่งศาลอาจจะสอบถามคู่กรณีว่ายังต้องการนำสืบพยานคนดังกล่าวอยู่หรือไม่ แต่หากคู่กรณีไม่ติดใจศาลก็จะไม่สืบพยานที่มีการระบุถึงได้ หรือศาลอาจให้สืบพยานบุคคลรายอื่นแทน
"กรณีของนายอานันท์ท่านอาจจะยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าต่อศาลในวันที่ 2 กรกฎาคมนี้แล้ว ในวันสืบพยานท่านอาจจะไม่มาศาลก็ได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่ที่พยานบุคคลจะตัดสินใจว่าจะมาให้การหรือไม่ รวมทั้งต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญออกหมายเรียกกำหนดพยานมาเบิกความต่อศาลในวันไต่สวนพยานด้วย" นายสมฤทธิ์ กล่าว
...