เทกระจาดแบบได้หมดถ้าสดชื่น ก็เป็นไปตามที่ประกาศล่วงหน้าว่า ประชุม ครม.นัดแรกของรัฐบาลจะทำอะไรบ้าง
ไม่ว่าจะเป็นการลดนํ้ามัน-ค่าไฟฟ้า-พักหนี้เกษตรกร-ธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ได้ใจชาวบ้านไปเต็มๆ
ในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวก็เปิดฟรีวีซ่าให้ 2 ประเทศ คือจีน-คาซัคสถาน ในช่วงไฮซีซัน เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการเดินทางมาเที่ยวไทย
พูดง่ายๆว่าตีคลุมไปทุกภาคส่วน
แค่นั้นยังไม่พอ อีกนโยบายหนึ่งเพื่อซื้อใจบรรดาข้าราชการทั่วประเทศคือ มาตรการจ่ายเงินซึ่งปกติเดือนละครั้ง
เป็นเดือนละ 2 ครั้ง
เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้สามารถมีเงินใช้ได้ตลอดทั้งเดือน แบบเดิมจ่ายให้ครั้งเดียวใช้ทีเดียวก็หมด เมื่อเป็นต้นเดือนจ่ายครึ่ง กลางเดือนจ่ายอีกครั้ง จะสามารถหมุนเวียนได้ครบเดือนพอดี โดยที่รัฐไม่ต้องเสียเพิ่ม
เพียงแต่เป็นการบริหารจัดการให้แค่นั้น เชื่อว่าข้าราชการน่าจะพอใจ โดยเฉพาะพวกที่มีหนี้สินรุงรัง จะมีเงินสดอยู่ในมือและสามารถแบ่งชำระได้
คงได้ใจข้าราชการอีกเรื่องหนึ่ง
ส่วนเรื่องยากๆก็ต้องซื้อเวลาในการจัดการเป็นเรื่องๆ ไปอย่างเรื่องที่เกี่ยวกับกองทัพที่ถูก “ก้าวไกล” ทวงถาม
ไม่ปฏิรูปแต่ร่วมกันพัฒนานั้น ก็คงค่อยเป็นค่อยไป แต่อย่างหนึ่งคือเรื่องเรือดำนํ้า ที่ค้างคาราคาซังมาจากรัฐบาลที่แล้ว
นายกฯบอกว่าได้ประสานกับรัฐบาลเยอรมนีแล้วว่า จะขอเจรจาระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมยูเอ็น ที่สหรัฐอเมริกาว่าจะขอใช้เครื่องยนต์ได้หรือไม่
เรื่องการเกณฑ์ทหารได้พูดคุยกับฝ่ายกองทัพแล้วไม่มีปัญหา อยู่ที่ว่าจะเริ่มต้นเมื่อใด รูปแบบเป็นอย่างไรเท่านั้น
แม้กระทั่งการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการทหาร ลดขนาดกองทัพ ก็มีความเห็นสอดคล้องกันไม่ใช่ข้อขัดแย้ง
...
การตอบโต้ฝ่ายค้านในวันแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ว่าด้วยเรื่องการใช้วาทกรรม และด้อยค่าทหารนั้น เป็นเรื่องไม่เหมาะสม จะพูดคุยกันด้วยไมตรีจิตน่าจะดีกว่า
ได้ใจ “ทหาร” ไปอีกกระบุงหนึ่ง
ว่าด้วยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นได้ตั้ง “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์เป็นแม่งาน
โยนให้สภาฯเข้ามาร่วมรับผิดชอบด้วย โดยรัฐบาลจะไม่ตัดสินใจเรื่องนี้อย่างโดดๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประชามติ และการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)
เพราะ “ก้าวไกล” พยายามจะจิกตีเรื่องนี้ตลอดเวลา
“เพื่อไทย” นั้นประกาศเพียงอย่างเดียวว่า ไม่แก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน และ ม.112 อันเกี่ยวข้องกับความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติที่จะแบ่งแยกไม่ได้
ที่สำคัญก็คือ 250 วุฒิสมาชิก ต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขด้วย และตั้งแง่ไว้อย่างหนึ่งก็คือ ห้ามแตะในประเด็นสำคัญด้วยเช่นกัน
อีกทั้งไม่เห็นด้วยกับการตั้ง สสร. ควรแก้ไขเป็นรายมาตรา ไม่ควรแก้ไขทั้งฉบับ และต้องคำนึงถึงเรื่องงบประมาณด้วย
สุดท้ายเสียงข้างมากในสภาฯคือตัวชี้ขาด!
“สายล่อฟ้า”
คลิกอ่านคอลัมน์ "กล้าได้กล้าเสีย" เพิ่มเติม