ใครที่ด้อยค่าคำแถลงนโยบาย ของนายเศรษฐา ทวีสิน ว่าไร้ความทะเยอทะยาน เป็นคำอธิษฐานมากกว่า โปรดย้อนกลับไปอ่านบางช่วงบางตอนของคำกล่าวของนายกรัฐมนตรี อาจจะยอมรับว่าเป็นคำแถลงนโยบายที่ทะเยอ ทะยานอย่างยิ่ง สำหรับประเทศไทยที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่ล้มเหลวมาเกือบร้อยปี
ตอนหนึ่งของคำแถลงนโยบาย นายกรัฐมนตรีสัญญาว่า รัฐบาลจะสร้างความชอบธรรม ในการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการฟื้นฟู “หลักนิติธรรม” ที่เข้มแข็ง โปร่งใส เพราะหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทางความคิด และสังคมของประเทศนักวิชาการบางท่านมองว่า หลักนิติธรรมในความหมายของสหประชาชาติ ยึดโยงโดยตรง กับหลักธรรมาภิบาล และประชาธิปไตย
คำสัญญาของนายกรัฐมนตรี จะฟื้นฟูหลักนิติธรรม จึงหมายถึงการปฏิรูปการเมืองไทยให้เป็นประชาธิปไตย เพราะหลักนิติธรรมเป็นเสาหลักสำคัญของประชาธิปไตย ที่ล้มลุกคลุกคลานมาเกือบศตวรรษ
นักรัฐศาสตร์บางคนระบุว่า “หลักนิติธรรม” คือการปกครองที่ยึดกฎหมายเป็นใหญ่ นั่นก็คือระบอบประชาธิปไตย ตรงข้ามกับระบอบเผด็จการ ที่ยึด “ตัวบุคคล” คือผู้เผด็จการเป็นใหญ่ แต่ “กฎหมาย” ในหลักนิติธรรมจะต้องเป็นกฎหมายที่ออกมาอย่างถูกต้อง โดยประชาชน หรือรัฐสภา ซึ่งเป็นตัวแทนปวงชน
บรรดาคำสั่งคณะปฏิวัติ หรือประกาศของคณะรัฐประหาร ที่ประเทศไทยถือเป็น “กฎหมาย” ใช้บังคับคนทั้งประเทศไทย เช่น ปว.ฉบับที่ 17 หรือ ปร.42 ที่ใช้ปิดปาก ปิดหู ปิดตาประชาชน ล้วนแต่ขัดหลักนิติธรรม ในระบอบประชาธิปไตย กรณี “กำนันนก” แห่งนครปฐม เป็นตัวอย่างหนึ่งของการปกครองที่ขัดหลักนิติธรรม
นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส ชื่อ ฌ็อง ฌัก รูโซ ระบุว่าประชาชนเป็นต้นตอของหลักนิติธรรม มีเพียงประชาชนเท่านั้นที่อาจสร้างกฎหมายขึ้นมาได้ การออกกฎหมายทุกครั้ง ต้องกลับไปหาประชาชน เพราะเจตจำนงของประชาชนคือกฎหมาย มิฉะนั้นนิติธรรมจะถูกทำลาย ประชาธิปไตยก็ถูกทำลาย
...
คำสัญญาของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา จะฟื้นฟูหลักนิติธรรม เพื่อสร้างความชอบธรรมในการบริหารประเทศ จึงถือเป็นคำสัญญาที่เต็มไปด้วยความทะเยอทะยานหรือไม่ สำหรับประเทศไทยและคนไทยที่โหยหาประชาธิปไตยมานานเกือบศตวรรษ หวังว่าคำสัญญาจะไม่เป็นแค่ “คำอธิษฐาน” ที่ล้มเหลวจากรุ่นสู่รุ่น.
คลิกอ่านคอลัมน์ "บทบรรณาธิการ" เพิ่มเติม