ในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าประเทศไทยเผชิญกับการท้าทาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ที่ซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดของโควิด เกิดวิกฤติแผ่เป็นวงกว้าง ยังไม่ฟื้นตัวเต็มตัว เกษตรกรกว่า 10 ล้านคน มีหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละ 3 แสนบาท
เนื่องจากนายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่ จึงยอมรับว่าประเทศมีปัญหารุมเร้ารอบด้าน ในด้านการเมืองมีความเห็นต่าง แบ่งแยกแนวความคิด ทำให้สังคมอยู่ในจุดน่ากังวล กฎหมายไม่ทันสถานการณ์บ้านเมือง มีปัญหาการทุจริตอาชญากรรม และยาเสพติดรุนแรงขึ้น ประเทศขาดความพร้อมที่จะเติบโตได้เต็มศักยภาพ
เป็นการยอมรับว่า ขณะนี้ประเทศไทยเป็น “คนป่วย” แม้จะไม่พูดตรงๆ แต่ยอมรับว่าประเทศมีโรครุมเร้ารอบด้าน ทั้งโรคที่ยืดเยื้อเรื้อรังมานาน และโรคปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นโรคเรื้อรังทางการเมืองมาเป็นเวลาช้านาน อาจย้อนหลังไปถึงปี 2500 ปี 25 พุทธศตวรรษ ที่มีการยึดอำนาจจอมพล ป.พิบูลสงคราม
หัวหน้าคณะรัฐประหารไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา คณะรัฐประหารปกครองประเทศด้วยอำนาจเผด็จการเต็มใบ มีการสืบทอดอำนาจถึงปี 2512 จึงยอมให้มีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง เมื่อปี 2512 อยู่ได้แค่ 2 ปีเศษ คณะรัฐประหารก็ยึดอำนาจตัวเอง กลับสู่เผด็จการในปี 2514
จนกระทั่งถึงยุคประชาธิปไตยกลับมาเบ่งบาน หลังการลุกขึ้นต่อสู้ของนักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่เบ่งบานอยู่ไม่นาน รัฐประหารก็กลับมาอีกในปี 2519 ประชาชนแตกแยกเป็นฝ่ายซ้ายฝ่ายขวา เป็นฝ่ายเสรีนิยมที่ยึดมั่นในประชาธิปไตย กับฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่กลายเป็นอำนาจนิยม
รัฐธรรมนูญทุกฉบับ (ยกเว้นฉบับรัฐประหาร) บัญญัติไว้ตรงกันว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และเขียนไว้ชัดเจนว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” แต่ฝ่ายอำนาจนิยมยอมรับบ้าง ไม่ยอมรับบ้าง ทั้งที่เป็นรัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดของประเทศ
...
รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปัจจุบัน เป็นอีกฉบับหนึ่ง ที่มีกลไกสืบทอดอำนาจ ของคณะรัฐประหาร นานกว่า 9 ปี และเป็นอีกฉบับที่สร้างความขัดแย้ง แบ่งเป็นเสรีนิยม และอนุรักษ์นิยม แต่เมื่อฝ่ายเสรีนิยมชนะเลือกตั้ง กลับไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรี อาการ “ป่วย” อีกอย่าง คือตำรวจบางส่วนอยู่ใต้ผู้มีอิทธิพล.
คลิกอ่านคอลัมน์ "บทบรรณาธิการ" เพิ่มเติม