“ชัยธวัช ตุลาธน” เย้ย รัฐบาลเศรษฐา ถ้าปิดตาฟัง นึกว่าเป็นคำแถลงนโยบายของรัฐบาลประยุทธ์ 3 ถามหรือว่าเกรงใจรัฐบาลบิ๊กตู่ อัดไร้ปฏิรูปทหาร และเหมือนเป็นนโยบายเขตทหารห้ามเข้า
เมื่อเวลา 18.46 น. วันที่ 12 ก.ย. 2566 ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 5 เป็นพิเศษ ที่มีการพิจารณาเรื่องด่วน คือ คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายประเด็นด้านการเมือง ที่มองว่าสภาวการณ์ปัจจุบันนี้ไม่ดีขึ้น และที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เป็นเพราะผลพวงที่เกิดขึ้นมานานกว่า 2 ทศวรรษ เมื่อดูนโยบายรัฐบาลพบว่ากว้าง ไม่ชัดเจน ไม่มีรูปธรรม และไม่มีเป้าหมายว่าจะทำอะไรกันแน่
อีกทั้งนโยบายสะท้อนความสัมพันธ์ทางการเมืองของรัฐบาลชุดนี้ ตนเองพยายามไล่อ่านว่ารัฐบาลพยายามจะทำอะไรบ้าง ซึ่งเนื้อหาของรัฐบาลที่บอกว่าจะมุ่งมั่นสร้างความสามัคคีในสังคมไทย ทั้ง 7 ข้อนั้น พบว่าเรื่องแรกคือ การพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ตนเองมองว่าเป็นสิ่งที่ทุกรัฐบาลต้องทำ แต่ตนเองสงสัยว่าการที่นายกฯ หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาเป็นเรื่องแรก รัฐบาลกำลังจะบอกว่าสถาบันกษัตริย์กำลังถูกคุกคามใช่หรือไม่ ขณะที่ในความเป็นจริงอีกด้านที่ไม่เคยถูกเอ่ยถึงเลย คือการนำเอาสถาบันเข้ามาเป็นความขัดแย้งทางการเมือง “หากปิดตาคิดว่านี่คือคำแถลงของรัฐบาลประยุทธ์ 3”
ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนเองอยากถามว่าการประชุม ครม. นัดแรก จะมีการทำประชามติ เพื่อให้มี ส.ส.ร. ไม่มีแล้วใช่หรือไม่ ขณะที่เรื่องรัฐบาลจะฟื้นฟูหลักนิติธรรม โปร่งใส ที่น่าเชื่อถือต่อต่างประเทศนั้น ตนเองอ่านแล้วยังไม่เข้าใจว่ารัฐบาลจะทำอะไรบ้าง ตกลงแล้วหลักนิติธรรมคืออะไรกันแน่ เพราะไม่มีการพูดถึงประชาชนแม้แต่คำเดียว รวมถึงสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค
...
ด้านเรื่องการกระจายอำนาจ หรือผู้ว่า CEO ให้ตอบสนองความต้องการต่อคนในพื้นที่ ตนเองไม่เห็นถึงความชัดเจนว่าจะเพิ่มอำนาจ เพิ่มงบประมาณ ทรัพยากรต่างๆ ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดๆ เลย ทั้งๆ ที่การรัฐประหาร 2 ครั้ง ถอยหลังเข้าคลองไปเรื่อยๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ทำให้ตนเองประหลาดใจกับคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ว่าเข้าใจการกระจายอำนาจตรงกันหรือไม่
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องปราบปรามยาเสพติด การสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ และการยอมรับความแตกต่างทางศาสนา ก็เหมือนเอาหลายๆ เรื่องมายำกัน ไม่มีเป้าหมาย
และเรื่องนโยบายกองทัพ ที่รัฐบาลระบุว่า จะสนับสนุนปรับโครงสร้างความมั่นคง ตอบสนองภัยคุกคามในศตวรรษที่ 21 เพื่อแก้ไขปัญหาและภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ตนเองขอชื่นชมที่ยังลงรายละเอียด และเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เรามี รมว.กลาโหม คนแรกที่เป็นพลเรือน และไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งหมายถึงเราจะเข้าสู่ยุคสมัย พลเรือนอยู่เหนือกองทัพใช่หรือไม่ หรือเป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลชุดนี้จะไม่ยุ่งกองทัพหรือไม่ เพราะนโยบายของรัฐบาลจากปฏิรูปกองทัพ เปลี่ยนเป็นร่วมกันพัฒนากองทัพ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ไม่มีการพูดถึงรัฐประหารสักคำ ทั้งๆ ที่เรื่องการรัฐประหารเป็นปัญหาสำคัญของการเมืองไทย ที่การเลือกตั้งที่ผ่านมาหวังว่าจะมีการปฏิรูปเพื่อป้องกันการรัฐประหารอีก
“ทำไมหรือครับ คำว่ารัฐประหารนี่มันน่าแสลงใจมาก จนพูดถึงกันไม่ได้ หรือนายกฯ เศรษฐา และรัฐบาลชุดนี้ เกรงใจ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐประหารมากขนากนั้นเลยหรือครับ” นายชัยธวัช กล่าว
นายชัยธวัช ยังขอให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องตอบว่า จะไม่มีการยกเลิกการเกณฑ์ทหารแล้วหรือไม่ เปลี่ยนมาเป็นสมัครใจหมายความว่าอย่างไร เพราะมันต่างกัน ตกลงรัฐบาลมีเป้าหมายยกเลิกเกณฑ์ทหารภายในกี่ปี ส่วนคนที่ไม่มีโอกาสเรียน นักศึกษาวิชาทหาร (รด.) ทุกคน จะมีทางออกอย่างไร และจะมีทหารเกณฑ์ไปถูบ้าน ซักผ้า ขับรถ เป็นเด็กรับใช้ให้ใครอีกหรือไม่ จะมีทหารเสียชีวิตอีกไหม มีทหารผีอีกหรือไม่ และจะมีทหารเรียกรับส่วยอีกไหม
“เรามีทหารเกณฑ์ 1.8 แสน สมัครใจ 3.5 หมื่นนาย สมัครใจ 2 รอบประมาณ 7 หมื่นนาย เราจะเตรียมทหารมากขนาดนี้ไปเตรียมรบภาคพื้นดินกับใคร เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ หลังยุคสงครามเย็น หลายประเทศปฏิรูปให้ขนาดกำลังพลเล็กลง แต่กองทัพไทยเแทบไม่ต่างจากยุคสงครามเย็น”
นายชัยธวัช กล่าวว่าการยกเลิกเกณฑ์ ไม่ใช่ลด จะถือเป็นจุดปฏิรูปที่สำคัญอย่างมาก เพราะเมื่อกำลังพลลด จำนวนผู้หมวด ผู้การ ก็จะถูกลดขนาดไปด้วย พร้อมตั้งคำถามว่าจะมีการทบทวนการมีอยู่ของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. หรือไม่ เพราะถูกฟื้นขึ้นมาหลังรัฐประหารปี 49 ทำให้รัฐทหาร เข้ามาซ้อนทับรัฐราชการอีกชั้น เกิดเป็นงบลับจำนวนมากศาลที่ตรวจสอบไม่ได้ ขณะเดียวกัน เรื่องเงินนอกงบประมาณ ก็แทบไม่มีรายงานว่าไปทำอะไร
“นี่มันไม่ใช่นโยบายการพัฒนากองทัพร่วมกัน หรือไม่แม้แต่นโยบายปฏิรูปกองทัพ แต่มันคือนโยบายเขตทหารห้ามเข้าครับ”
นายชัยธวัช กล่าวว่า การแถลงนโยบายในครั้งนี้ ชวนให้คิดว่า รัฐบาลเศรษฐา 1 เป็นส่วนต่อขยายของรัฐบาลประยุทธ์ เพื่อเหนี่ยวรั้งสังคมไทยให้อยู่แบบเก่า นี่คือนโยบายรัฐบาลที่เต็มไปด้วยความสยบยอม หรือไม่ก็สมยอม ระหว่างชนชั้นนำการเมือง เศรษฐกิจ จารีต เพื่อรักษาระบบเดิมเอาไว้ ที่ไม่ใช่ประชาชนเป็นอำนาจสูงสุด แต่คือทหารมีอำนาจเหนือสังคม รัฐราชการรวมศูนย์ กฎหมายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ ความมั่นคงอยู่เหนือพลเรือน ทุนใหญ่มีอำนาจเหนือระบบเศรษฐกิจ