“จุลพันธ์” รมช.คลัง ยัน นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต ยึดกรอบวินัยการเงินการคลัง พร้อมแจงปมเอื้อทุนใหญ่ เชื่อ ประชาชนจะสามารถตัดสินใจใช้เงิน 10,000 ได้อย่างเป็นประโยชน์สูงสุด

เมื่อเวลา 17.41 น. วันที่ 11 กันยายน 2566 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงการอภิปรายในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เรื่องด่วน แถลงนโยบายรัฐบาล ถึงเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นธงหลักนโยบายหนึ่งของรัฐบาลปัจจุบัน ว่า ขอยืนยันในหลักคิดนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตให้ประชาชน ซึ่งไม่ใช่เรื่องกระบวนการได้มาซึ่งคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่เล็งเห็นว่าสภาวะเศรษฐกิจของไทยมีความจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก ไปยังชุมชนทุกภูมิภาค ด้วยกลไกที่ใช้บล็อกเชน (Blockchain) เพื่อกำหนดกรอบการใช้จ่ายเงิน 

หลักคิดแรก คือ กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ไม่ว่าประชาชนจะอยู่ที่ใดของประเทศ หลักคิดที่ 2 เป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศไทย เพื่อให้คนไทยทุกคนในอนาคตมี 2 กระเป๋า คือ เงินสดและเงินดิจิทัล เป็นการรองรับประเทศไทยที่จะสามารถเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจดิจิทัลของโลก เป็นโอกาสที่กำลังจะมาถึงและเราต้องคว้าให้ได้ผ่านโครงการนี้

...

“ส่วนแหล่งที่มาของงบประมาณ อยากให้เพื่อนสมาชิกระมัดระวังในการอภิปรายและเสนอความคิดเห็น โดยเฉพาะการชี้นำสังคมเรื่องที่มาแหล่งรายได้ เพราะการอภิปรายในสภาเป็นที่เปิดเผย อาจทำให้สังคมเข้าใจผิดและกระทบกับความน่าเชื่อถือ รวมถึงความเชื่อมั่นของประเทศไทยเรื่องกรอบวินัยการเงินการคลัง สำหรับรัฐบาลเรายึดมั่นกรอบวินัยการเงินการคลังเป็นหลัก เราจะไม่มีการแตะต้องทรัพย์สมบัติของชาติ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนวายุภักษ์ กองทุกบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือกองทุนประกันตนก็ตาม เรารู้ถึงวัตถุประสงค์ของตัวกองทุนและเม็ดเงินนั้นดี และเราไม่มีกระบวนการที่เข้าไปแตะต้องมัน เราไม่ได้เริ่มแม้แต่จะคิด

ขอเรียนเพื่อให้เกิดความมั่นใจ กระบวนการที่เราจะทำ จะขอเวลาในการไปตรวจในรายละเอียด แล้วก็เดินหน้าโครงการ สุดท้ายจะมีความชัดเจนกรอบการใช้เงิน รวมถึงระยะเวลาดำเนินการ กระบวนการเราจะนำงบประมาณมาใช้คืนให้หมดในระยะเวลา ที่กำหนด ไม่กระทบหนี้สาธารณะแน่นอน ไม่เป็นการกู้เพิ่ม และยึดหลักกรอบวินัยทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ขอยืนยันผ่านรัฐสภาแห่งนี้” 

สำหรับประเด็นกรอบระยะทาง 4 กิโลเมตร และกรอบเวลา ขณะนี้อยู่ในช่วงการรับฟังความคิดเห็น ขอบพระคุณข้อเสนอมากมาย จะเก็บข้อเสนอแนะข้อแนะนำเหล่านี้ไปพิจารณาในภาพรวม ท้ายที่สุดเม็ดเงินทั้งหมดจะถึงมือประชาชนและเกิดประโยชน์สูงสุดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายจุลพันธ์ ยังชี้แจงเรื่องประเด็นการเอื้อทุนใหญ่ และการที่อาจจะเกิดราคาที่ไม่เป็นธรรม ว่า เรารับฟังด้วยความระลึกถึงความหวังดี แต่โดยหลักคิดรัฐบาลไม่ได้มองประชาชนเป็นผู้ร้าย แต่มองว่าเมื่อประชาชนส่วนมากได้เงินไปแล้วจะจัดสรรการใช้ได้อย่างเป็นประโยชน์ จะใช้บริโภคที่เป็นประโยชน์ ใช้หมุนเวียนในชุมชน ขณะที่ประเด็นเม็ดเงินจะไหลไปที่ทุนใหญ่นั้น

“ต้องเรียนด้วยความเคารพ โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตไม่มีการเลือกปฏิบัติ เราไม่ได้เลือกว่าสุดท้ายแล้วทุนใหญ่ หรือร้านสะดวกซื้อ จะไม่สามารถเข้าโครงการได้ มันเป็นสิทธิของประชาชน และเราต้องให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนในการที่จะเลือกกิจกรรมที่เขาจะทำ” 

ทั้งนี้ รัฐบาลจะมีนโยบาย มีโครงการที่จะประกอบกันเข้า เพื่อจูงใจประชาชนใช้เม็ดเงินนี้อย่างเป็นประโยชน์  โดยขณะนี้มีการรวมกลุ่มของประชาชนในต่างจังหวัดจำนวนมาก เพื่อนำเม็ดเงินนี้ไปต่อยอดอาชีพ รวมถึงจัดกิจกรรมสร้างประโยชน์ให้ชุมชน เป็นแนวความคิดที่ล้ำหน้ากว่าพวกเราในที่ประชุมแห่งนี้ด้วยซ้ำ ประชาชนสามารถแตกยอดความคิดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ การรวมกลุ่มกันเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตที่มีต้นทุนสูง จะเกิดแชร์ริ่งสินทรัพย์ เช่น เครื่องจักรการเกษตรขนาดใหญ่ 

“ต้องให้ความมั่นใจกับรัฐสภาแห่งนี้ว่า รัฐบาลเชื่อมั่นในพี่น้องประชาชนว่าเขาจะสามารถตัดสินใจได้อย่างเป็นประโยชน์สูงสุด และจะสามารถนำเม็ดเงินนี้ไปทำประโยชน์ให้กับชุมชนของตน กับพี่น้องประชาชนเอง ทุกบาททุกสตางค์ด้วยความที่เป็นระบบบล็อกเชน เป็นเทคโนโลยีในพื้นฐาน สิ่งที่จะยืนยันกับรัฐสภาแห่งนี้ได้ว่า ไม่มีเทคโนโลยีใด ซึ่งจะมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้เท่าเทคโนโลยีบล็อกเชนในปัจจุบัน เพราะฉะนั้น ยืนยันกับพี่น้องทุกท่าน กับเพื่อนสมาชิกทุกท่านว่า นโยบายนี้จะเกิดประโยชน์และตรวจสอบได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์” ก่อนจบการชี้แจงที่ 17.49 น.