ช่วงเปลี่ยนผ่าน ไม่ใช่บะหมี่สำเร็จรูป
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ทหาร และความมั่นคง ส่งสัญญาณผ่าน ทีมข่าวการเมือง ให้สังคมได้เห็นรัฐบาลสลายขั้ว ต้องผ่านช่วงประนีประนอม เพื่อก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านประเทศไทย โดยยึดวาระประชาชน วาระประเทศเป็นตัวตั้ง
โดยพยายามสะท้อนว่าทั้งหมดเป็นโจทย์ที่ไม่มีสูตรสำเร็จ ฉีกซองใส่ถ้วยน้ำร้อนชง แล้วจบ การเปลี่ยนผ่านในภาวะเช่นนี้มีปัญหาเฉพาะหน้าเกิดขึ้นตลอด
โดยเฉพาะแรงกดดันจากภาคสังคม ยิ่ง ครม.ชุดใหม่ ไม่ค่อยมีเสียงตอบรับ รัฐบาลจำเป็นต้องดึงใจประชาชนกลับมา ถ้าทำไม่ได้อาจเกิดปัญหาอีกแบบ เช่น เผชิญกับการประท้วง ต่อต้านใหญ่
ฉะนั้นสิ่งที่ต้องตระหนัก และท้าทายรัฐบาล การประนีประนอมต้องรักษาหลักการที่พาประเทศเดินไปสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น มีความเป็นนิติรัฐมากขึ้น บริหารประเทศ มีประสิทธิภาพ ตอบสนองแก้ปัญหาของประชาชน
บนโจทย์ใหญ่สารพัด อาทิ การฟื้นเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ ปัญหาความมั่นคงและการฟื้นฟูสังคมในยุคหลังโควิด ไม่นับปัญหาไทยเผชิญสถานการณ์สงครามเย็นในเวทีโลก ปัญหาการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจในภูมิภาค
ใหญ่ที่สุดต้องฟื้นบทบาทของไทยในเวทีอาเซียน
ศ.ดร.สุรชาติ ยังบอกถึงซีนาริโอการเมืองที่เดินต่อไปเรื่อยๆ บนเงื่อนไขแรก “ไม่มีรัฐประหาร” เงื่อนไขที่ 2 “อาจมีวิกฤติ” ซึ่งไม่นำไปสู่การแตกหักของระบบการเมือง
โดยมองไปยาวอีกนิด เมื่อการเมืองเดินไปเรื่อยๆ อาจเห็นหน้าตารัฐบาลแบบปัจจุบัน เป็นระบบรัฐสภาแบบหลายพรรค ที่ไม่ใช่ระบบรัฐสภาแบบอังกฤษ ไม่ใช่แบบสหรัฐอเมริกา ซึ่งมี 2 พรรคหลัก แต่คล้ายกับยุโรป ได้เห็นระบบประชาธิปไตยเปิดพื้นที่กว้าง
...
“ปัจจุบันข้อถกเถียงในไทยค่อนข้างตึงมาก ถึงเส้นแบ่งระหว่างฝั่งเป็นประชาธิปไตยกับฝั่งไม่เป็นประชาธิปไตย โดยฝั่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยถูกนิยามเป็นพวกที่ไปอยู่กับฝ่ายรัฐประหาร หรือพรรคสืบทอดอำนาจ
ถ้าการเมืองมันเดินยาว สภาพเงื่อนไขรัฐประหาร 49 และ 57 คงค่อยๆ จางลงด้วยเงื่อนของเวลา ประชาธิปไตยในอนาคต อาจต้องการพื้นที่การเมืองใหม่ เหมือนในยุโรป มีซ้ายสุด-ซ้ายกลาง-ขวากลาง-ขวาสุด
พรรคไหนอยู่ตรงไหนขึ้นอยู่กับนโยบายที่นำเสนอ การเมืองในยุโรปพอพรรคสังกัดอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ก็รักษาอย่างนี้มาตลอด เพื่อรักษาจุดยืนหรือสถานะในพื้นที่ตรงนั้น”
พร้อมยกตัวอย่างลงรายละเอียดให้เห็นประเทศต่างๆ บนแผนที่โลกใบนี้ อาทิ ระบอบประชานิยมปีกขวาในอินเดีย วันนี้เข้มแข็ง จนทุกพรรคในอินเดียจับมือกันเพื่อล้มนเรนทระ โมที นายกฯ อินเดีย ในสหรัฐอเมริกายุค โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ต้องพูดถึง-ในยุโรป คนยังอยู่กับปีกขวากลางมากกว่าขวาจัด และไม่เดินไปถึงซ้ายกลาง
เมื่อมองผ่านหลายประเทศเห็นภาพการเมืองโลกชุดใหญ่ แนวโน้มเป็นรัฐบาลผสม และยังชี้ชัดประชาธิปไตยไม่กีดกันพรรคใด เมื่อมีการเรียนรู้ “เปิดพื้นที่กว้างให้ทุกฝ่าย-เปิดใจกว้าง” ยกเว้นไม่รับพรรคขวาจัดที่สนับสนุนรัฐประหาร ยุโรปในอดีตรับกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ไม่รับพรรคนาซี เป็นปฏิปักษ์ต่อมนุษยชาติ
ถึงได้ย้ำเสมอประชาธิปไตยในอนาคต ต้องไม่ปิดพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นส่วนประกอบของระบอบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยสมัยใหม่ไม่ปฏิเสธการดำรงอยู่ของกองทัพ เพราะกองทัพเป็นเครื่องมือของรัฐสมัยใหม่ ตรงนี้สังคมไทยไม่ค่อยพูด ที่ผมพูดไม่ได้หมายความว่าโปรทหาร แต่นำเสนอในทางมิติทางรัฐศาสตร์
และประชาธิปไตยไม่เคยบอกว่าต้องทำลายพรรคอนุรักษ์นิยมทิ้ง แต่ระบอบประชาธิปไตยอยากเห็นพรรคอนุรักษ์นิยมเป็นพรรคกระแสหลัก ลองชวนปีกขวาทั้งหลายลงจากรถถังแล้วขึ้นรถหาเสียง ถอดชุดความคิดรัฐประหารทิ้ง ถ้าเดินมาถึงจุดนี้การเมืองไทยเปลี่ยนทุกอย่าง เป็นการเมืองที่มีเสถียรภาพแบบหนึ่ง
ไม่เกิดรัฐประหารขึ้นในประเทศไทย
ศ.ดร.สุรชาติ ยังบอกถึงเกาหลีใต้ที่สิ้นสุดการรัฐประหาร สิ้นสุดกองทัพแทรกแซงการเมือง ปิดฉากการเมืองชุดเก่า ปลดปล่อยพลังสังคม เปิดพื้นที่การเมืองหมด ระบบทุนนิยมขยับตัวทันที พัฒนาเยอะมาก เช่นเดียวกับอินโดนีเซียกำลังเดินบนเส้นทางนี้ วันนี้ไม่มีข่าวลือรัฐประหาร
ฉะนั้นพอมองการเมืองด้วย ความหวัง โดยเปิดพื้นที่การเมืองใหม่ ประชาธิปไตยต้องไม่ใจแคบ เมื่อไหร่ที่ใจแคบ พรรคโน้นก็ไม่รับ พรรคนี้ก็ไม่รับ เหลือพรรคเดียวที่เป็นประชาธิปไตย สุดท้ายไม่เป็นประชาธิปไตย
อย่าไปหงุดหงิดกับระบบการเมืองแบบหลายพรรค แม้บางครั้งอาจเผชิญกับรัฐบาลอ่อนแอ ล้มลุกคลุกคลานเหมือนในอิตาลี แต่ไม่มีรัฐประหาร
ขอย้ำให้เปิดพื้นที่กว้าง เปิดใจรับทุกฝ่าย ถ้าไม่เปิดใจมันก็ปะทะกับโลกการเมืองชุดเก่าไม่จบ ซึ่งการเมืองชุดเก่าอาจเรียกว่ายุคสีเสื้อ ที่ปิดฉากสุดท้ายโดยนายทักษิณ ชินวัตร กลับประเทศไทย และ 3 นายพลใหญ่ ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เดินออกจากเวทีการเมือง เป็นผลพวงของเหตุการณ์ความขัดแย้งในยุคสีเสื้อ
ปิดฉากการเมืองไทยยุคเก่า ตัวละครชุดเก่าไปหมด
การเมืองไทย-การเมืองโลกเริ่มเข้าสู่ยุคใหม่ไล่เลี่ยกัน
ช่วงเปลี่ยนผ่านแบบนี้ แน่นอนนอกระบบห้ามแทรกแซง สถานการณ์แบบนี้มีข้อเสนอแนะอย่างไรให้เปลี่ยนผ่านประเทศไทยราบรื่น ศ.ดร.สุรชาติ บอกว่า “ความหงุดหงิด”
ทฤษฎีการเปลี่ยนผ่าน เงื่อนไขใหญ่ที่ฟังแล้วหงุดหงิดที่สุด คือ ประนีประนอมระหว่าง “อำนาจเก่า” กับ” อำนาจใหม่” ความหงุดหงิดอีกส่วน คือ ปัญหาระบบเดิมทิ้งไว้ อยู่ในรูปกฎหมาย ในรูปองค์กรบางส่วน รัฐบาลใหม่จะจัดการอย่างไรกับปัญหาพวกนี้
โดยการเปลี่ยนผ่านทั่วโลกมี 2 แบบ คือ 1.ประนีประนอม เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์วิกฤติ หรือนำไปสู่
การนองเลือด ไปจบลงที่รัฐประหารรอบใหม่ ฉะนั้นการเปลี่ยนผ่านแบบนี้ อาจไม่ถูกใจ หงุดหงิดสารพัด แต่ดำรงให้การเมืองเดินต่อไม่สะดุดบนเงื่อนไขรัฐประหาร
2.เปลี่ยนผ่านโดยโค่นระบอบทหารทิ้งหรือระบบอำนาจเดิมทิ้ง และตั้งรัฐบาลหลังการเปลี่ยนผ่านชุดใหม่ ไม่ประนีประนอม เพราะระบอบเดิมมันล้ม
อีกเรื่องที่ใหญ่ที่สุดในการเปลี่ยนผ่านช่วงรอยต่อของการเริ่มเข้าสู่กระบวนการนี้ การจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเลือกตั้งกับกองทัพ เป็นกุญแจดอกสำคัญอีกดอก และคิดว่าเป็นตัวกุญแจหลักด้วย
พร้อมยกตัวอย่างในละตินอเมริกาที่ผ่านมา ทหารไม่หวนกลับ ไม่มีรัฐประหาร ทั้งที่ครั้งหนึ่งเป็นการเมืองที่ระบอบทหารเข้มแข็งที่สุดในโลก ระบบทหารไทยเทียบไม่ติดระบบทหารละตินอเมริกา ตรงกันข้ามการเมืองในแอฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในแอฟริกาที่หวนกลับสู่การรัฐประหาร 2 ปี มีรัฐประหาร 8 ประเทศ
เตือนจัดสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ
รัฐบาลใหม่ส่งนายสุทิน คลังแสง นั่ง รมว.กลาโหม ส่งสัญญาณอย่างไร ศ.ดร.สุรชาติ พยายามบอกให้เห็นภาพบวก และลบควบคู่กันไป พร้อมยกตัวอย่าง ละตินอเมริกาหลังเปลี่ยนผ่าน เผชิญปัญหาทฤษฎีคนรุ่นใหม่ ลัทธิ Nowism ที่ต้องการได้อะไรทุกอย่างแบบปัจจุบันทันด่วน
พอเกิดความคาดหวังแบบนี้ ทำให้จังหวะเปลี่ยนผ่านมีโอกาสปะทะ เพราะข้อเรียกร้องมันตึง ผมไม่ได้บอกว่าต้องประนีประนอมจนสุดขั้ว
แต่จังหวะเปลี่ยนผ่านโดยธรรมชาติของตัวมัน บนเงื่อนไขเปลี่ยนผ่านแบบสันติ ย่อมต้องประนีประนอม
ฉะนั้นในเมื่อการเมืองไทยกำลังเดินอยู่บนเส้นทางการเปลี่ยนผ่าน อาจไม่ตอบสนองต่ออารมณ์ ความรู้สึก ความต้องการ แต่ถ้ามองไกลสักนิด เป็นโอกาสประคับประคองระบอบประชาธิปไตย เดินแล้วสู้กันต่อไปโดยไม่สะดุดล้ม
ฉะนั้นฝากถึงรัฐบาลวันนี้โจทย์ใหญ่ คือความเปลี่ยนแปลงภายในโครงสร้าง สร้างกระบวนการทางรัฐสภาที่เข้มแข็ง รัฐไทยต้องปฏิรูปทุกภาคส่วน ไม่ใช่แค่ปฏิรูปกองทัพ เพราะโจทย์การเมืองโลกเปลี่ยนใหญ่ สังคมเปลี่ยนใหญ่
ขอให้มองการเมืองด้วยความหวัง ไม่ใช่ด้วยความหดหู่
ถ้าการเมืองเดินตามนี้ แม้ล้มลุกคลุกคลาน มีวิกฤติ
ขออย่าเป็นวิกฤติที่แตกหัก แล้วจบลงที่รัฐประหาร.
ทีมการเมือง
คลิกอ่านคอลัมน์ "วิเคราะห์การเมือง" เพิ่มเติม