ทั้งคำแถลงการณ์การจัดตั้งรัฐบาล 11 พรรค และคำแถลงการณ์ของคณะรัฐมนตรีที่เตรียมไว้ เพื่อแถลงต่อรัฐสภา ในวันที่ 11 ถึง 12 กันยายนนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ยืนยันหนักแน่นว่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ด้วยการทำประชามติขอความเห็นจากประชาชน ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก
คำแถลงการร่วมจัดตั้งรัฐบาล 11 พรรค ระบุแต่เพียงว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น สัญญาจะไม่แก้ไขในส่วนที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และยืนยันว่าเศรษฐกิจเป็นปัญหาสำคัญอันดับแรก ที่ต้องเร่งแก้ไข ส่วนรัฐธรรมนูญจะแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ไม่ยืนยันว่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่บอกว่าจะให้ประชาชนลงประชามติ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะถ้าจะจัดทำใหม่ทั้งฉบับ ต้องมีการลงประชามติ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญ เคยวินิจฉัยแสดงว่ารัฐบาลจะแก้ไขเป็นรายมาตรา เพื่อลดการต่อต้าน และมุ่งความสำเร็จ
หลังจากที่พรรคเพื่อไทยตัดสินใจ จับมือกับพรรค 2 ลุง เพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยอ้างว่าไม่ใช่รัฐบาลข้ามขั้ว แต่เป็นรัฐบาลสลายขั้ว เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ มีเสียงวิจารณ์ว่า พท.ไม่ใช่เสรีนิยมจริงตามที่เคยกล่าวอ้าง แต่เป็น “อนุรักษ์นิยมใหม่” ไม่ใช่ประชาธิปไตยจ๋าเหมือนเมื่อเป็นพันธมิตรก้าวไกล
พรรค พท.จึงเลือกที่จะแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ไม่แตะหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ และหมวดทั่วไป (หมวด 1 และหมวด 2) เพื่อไม่ให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมต่อต้าน เหมือนกับที่พรรคก้าวไกลโดนต่อต้านเรื่องการแก้ไข ม.112 ทำให้ความฝันของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่จะเป็นนายกฯพังทลาย
แต่ถ้าแก้เป็นรายมาตรา มีโอกาสจะสำเร็จ เช่น แก้ไขที่มาของนายกรัฐมนตรี ให้เป็นประชาธิปไตยแท้มาจาก สส. เป็นผู้นำพรรคเสียงข้างมาก ไม่ใช่บงการโดยผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งแก้ไขเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ให้ สว.ที่มาจากการแต่งตั้ง เป็นผู้ชี้ขาดการแก้ไข
...
ยิ่งกว่านั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรายังใช้เวลาน้อยกว่าแก้ไขทั้งฉบับหลายเท่า และมีโอกาสสำเร็จมากกว่า หลายฝ่ายที่พยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ล้วนแต่ล้มเหลว พรรค พท.อาจประสบชะตากรรมแบบเดียวกับพรรคก้าวไกล และถูกเยาะเย้ยว่าเล่นการเมืองแบบหัวชนฝา.
คลิกอ่านคอลัมน์ "บทบรรณาธิการ" เพิ่มเติม