“ธรรมนัส” รมว.เกษตรฯ รับคำสั่งการนายกรัฐมนตรี เร่งระบายน้ำท่วม ลดผลกระทบในพื้นที่ 5 อำเภอกาฬสินธุ์ กำชับช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนเต็มที่
วันที่ 7 กันยายน 2566 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยในเขตพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอเขาวง อำเภอห้วยผึ้ง อำเภอนาคู และ อำเภอสมเด็จ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน พื้นที่ทำการเกษตรถูกน้ำท่วมจำนวนมาก ถนนหนทางสัญจรด้วยความยากลำบากนั้น ล่าสุดตนได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดโดยเฉพาะสำนักงานชลประทานที่ 6 จัดเตรียมเครื่องจักรและเครื่องสูบน้ำเพื่อช่วยเหลือระบายน้ำอย่างเร่งด่วนแล้ว และให้เร่งลดระดับน้ำลำน้ำยัง ลงไปยังลำน้ำชี เพื่อให้สามารถรองรับที่อาจจะหลากล้นลงมาอีกหากมีปริมาณฝนตกหนักเพิ่ม รวมถึงให้รายงานสถานการณ์ทุกระยะ เนื่องจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้เร่งช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนอย่างเร่งด่วนด้วย
“ท่านนายกฯ มีความเป็นห่วงประชาชนและพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมอย่างมาก ได้กำชับให้ทางกระทรวงเกษตรฯ สั่งหน่วยงานในสังกัดช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนอย่างเต็มที่”
ทางด้าน นายชิตชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ภายหลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการให้เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ดังกล่าวเร่งด่วน ขณะนี้ตนได้จัดเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องอุปกรณ์เครื่องจักรและเครื่องสูบน้ำไว้พร้อมแล้ว เพื่อเข้าช่วยประชาชนได้ทันที ขณะเดียวกันได้ประสานไปยังสำนักชลประทานที่ 7 ให้เขื่อนยโสธรยกบานเพื่อลดระดับน้ำ ดึงระดับน้ำในลำน้ำยังลง และไหลลงสู่ลำน้ำชีให้เร็วขึ้น ตามข้อห่วงใยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
...
ทั้งนี้ พื้นที่ท้ายอ่างห้วยฝา ห้วยผึ้ง ห้วยสะทด จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 3 วัน หากไม่มีฝนตกมาเพิ่ม ซึ่ง ณ ปัจจุบันฝนหยุดตกแล้ว ส่วนถนนที่ได้รับน้ำหลาก ปัจจุบันสามารถสัญจรได้เป็นปกติแล้วเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามเบื้องต้นได้รายงานต่อ ร.อ.ธรรมนัส ถึงสาเหตุการเกิดสถานการณ์อุทกภัยครั้งนี้ เนื่องจากมีฝนตกหนักตั้งแต่ช่วงวันที่ 6 กันยายน ต่อเนื่องถึงวันที่ 7 กันยายน 2566 บริเวณต้นน้ำลำน้ำยังตอนบน อำเภอกุฉินารายณ์ ปริมาณน้ำฝนมากสุด 124.0 มม. อำเภอเขาวง 110.0 มม. อำเภอห้วยผึ้ง 36.0 มม. อำเภอนาคู 55.0 มม. และอำเภอสมเด็จ 109.5 มม.
ส่งผลให้น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 7 อ่าง เต็มความจุอ่าง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยสะทด, ห้วยฝา, ห้วยผึ้ง, ห้วยจาน, ลำพะยังตอนบน, ห้วยจุมจัง และห้วยมะโน โดยปริมาณน้ำที่ล้นจากอาคารระบายน้ำล้น ไหลท่วมท้ายอ่างเก็บน้ำจำนวน 3 อ่าง คือ ห้วยฝา ห้วยผึ้ง ห้วยสะทด ส่วนอีก 4 อ่างเก็บน้ำ ไหลลงไปสมทบกันที่จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ลำน้ำชี บ้านโพธิ์ตาก อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
นอกจากนี้ ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 6 ยังกล่าวถึงกรณีผู้ประสบภัย 2 รายถูกน้ำป่าพัด เบื้องต้นทราบว่า ทางงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลเมืองกุฉินารายณ์นำเรือเข้าช่วยเหลือได้ปลอดภัยแล้ว 1 ราย ทราบชื่อต่อมาคือ นายธงชัย ประกอบแสง อายุ 39 ปี ส่วนอีก 1 ราย เป็นเพศชาย อายุ 19 ปี ขับขี่รถจักรยานยนต์ข้ามสันอาคารระบายน้ำล้น ช่วงเวลา 05.30 น. ของเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 ส่งผลให้น้ำพัดร่างไปตามกระแสน้ำ ข้อมูลรายงานจากนายอำเภอห้วยผึ้ง ทราบชื่อ นายชาญ บุตรวงศ์ ปัจจุบันหน่วยกู้ภัยยังค้นหาผู้ประสบภัยไม่พบ ครอบครัวไม่ติดใจ เนื่องจากฝ่าฝืนป้ายห้ามที่ชลประทานได้ติดตั้งไว้
ขณะที่ นายบำรุง คะโยธา ตัวแทนชาวนาในพื้นที่บ้านกุดตาใกล้ ตำบลสายนาวัง อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวบ้านในตำบลสายนาวังได้รับผลกระทบน้ำท่วมไร่นาจากสถานการณ์ฝนตกเนื่อง 2-3 วันแล้ว และหากยังฝนตกไม่หยุดในตำบลสายนาวัง ซึ่งมี 2-3 หมู่บ้าน คงเดือดร้อนหนัก เพราะนาข้าวจะเสียหายหลายพันไร่ ตนเองหวังว่าสถานการณ์จะคลี่คลายในเร็ววัน เนื่องจากขณะนี้มีหลายหน่วยงานในพื้นที่ รวมถึงกรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 6 เข้ามาช่วยเหลือเรื่องการระบายน้ำในอ่างห้วยมะโน และยังมีเครื่องจักรอุปกรณ์รวมถึงเครื่องสูบน้ำไว้ช่วยเหลือชาวบ้านอีกด้วย
ตัวแทนชาวนา กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เป็นปัญหาของพี่น้องชาวนาในตำบลสายนาวัง ที่ผ่านมาคือการเรียกร้องขอทำนาปรังในฤดูแล้ง โดยขอให้ปล่อยน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยมะโน ซึ่งปกติหากน้ำเต็มอ่างมีปริมาณจำนวน 5 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ในฤดูแล้งก็ยังมีปริมาณน้ำเพียงพอ เราเข้าใจดีว่ามีภาวะฝนทิ้งช่วงเอลนีโญ แต่เราอาศัยอยู่กันมานานจึงทราบดีว่าเมื่อถึงฤดูฝนก็จะเกิดน้ำท่วม ทำให้นาข้าวเสียหายจำนวนมาก จึงมีเพียงฤดูแล้งที่ขอทำนาปรังบ้าง เพื่อได้มีข้าวและพืชผลผลิตทางการเกษตรไว้สำหรับบริโภคในครัวเรือน.