ประวัติ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” นั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี “รัฐบาลเศรษฐา 1” หลังย้ายจากพลังประชารัฐกลับมาซบเพื่อไทย โชกโชนสนามการเมือง เจ้าของประโยค ไม่เคยเป็นฝ่ายค้านในขณะที่เป็น สส.

ภายหลังจากที่พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ภายใต้รัฐบาลที่นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ถูกเผยแพร่ลงในราชกิจจานุเบกษา จึงได้เห็นรายชื่อของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ หรือที่เรียกกัน ครม.เศรษฐา 1 กันไปแล้ว ในส่วนของพรรคเพื่อไทย มีโควตารัฐมนตรี คือ 8 รัฐมนตรีว่าการ 9 รัฐมนตรีช่วยว่าการ บวกกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หนึ่งในนั้นมีชื่อของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ติดโผอยู่ โดยดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี 

ประวัติ สมศักดิ์ เทพสุทิน

สำหรับประวัติของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นนักการเมืองชาวสุโขทัย เกิดเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2498 สำเร็จการศึกษาชั้น มศ.3 จากโรงเรียนศรีสำโรงชนูปถัมภ์ จังหวัดสุโขทัย จบการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร จบการศึกษาจาก ปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ. 2521 และปริญญาโทรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี พ.ศ. 2538 สมรสกับ นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน มีบุตร-ธิดา 2 คน คือ ณัฐธิดา เทพสุทิน และ เทิดไท เทพสุทิน มีการดำเนินธุรกิจก่อสร้าง คือ ห้างหุ้นส่วน สุโขทัย เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และกิจการฟาร์ม คือ เทิดไทฟาร์ม

...

เส้นทางการเมืองโชกโชน

นายสมศักดิ์ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สุโขทัย ตั้งแต่ปี 2526 และได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรกในรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลชุดต่อมาของ นายชวน หลีกภัย ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีอีกครั้ง เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต่อมาในคณะรัฐมนตรี นายบรรหาร ศิลปอาชา ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเช่นเดิม ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาล นายชวน หลีกภัย อีกครั้ง 

กระทั่งเวลาต่อมา นายสมศักดิ์ ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย และลงสมัคร สส.แบบบัญชีรายชื่อ ในการเลือกตั้งปี 2544 รัฐบาลไทยรักไทย ชนะเลือกตั้งภายใต้การนำโดย นายทักษิณ ชินวัตร หรือ รัฐบาลทักษิณ 1 ส่วนภรรยาลงสมัครในระบบเขตแทน และ นายสมศักดิ์ ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในปี 2545 แล้วจึงปรับมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2546 และเป็นรองนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา จากนั้นปี 2548 ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีอีกครั้งในรัฐบาลทักษิณ 2 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และปรับเปลี่ยนมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ ยังเป็นหัวหน้ากลุ่มการเมืองในพรรคไทยรักไทยที่ชื่อว่า กลุ่มวังน้ำยม เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในพรรคในการหาเสียงการเลือกตั้งในปี 2548 มีนโยบายที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ โคล้านตัว เป็นนโยบายที่จะทำการแจกโคให้แก่เกษตรกรฟรีทั่วประเทศ และเป็นที่มาของการจัดตั้งบริษัท ส่งเสริมธุรกิจเกษตรกรไทย จำกัด แต่โครงการไม่ประสบความสำเร็จ เพราะจัดหาโคได้เพียง 21,684 ตัวเท่านั้น

สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30
สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30

เผชิญรัฐประหาร 2 ครั้ง

หลังการรัฐประหารในปี 2549 นายสมศักดิ์ และกลุ่มวังน้ำยม ลาออกจากพรรคไทยรักไทย ไปจัดตั้งกลุ่มขึ้นใหม่ ชื่อว่ากลุ่มมัชฌิมา ต่อมาในปี 2550 ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 แต่ก็ยังดำเนินการทางการเมือง ด้วยการนำพาสมาชิกที่เหลือไปสังกัดกับทางพรรคประชาราช โดยที่ นางอนงค์วรรณ ได้เป็นเลขาธิการพรรคในเวลาต่อมา แต่อยู่ได้ไม่นาน นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ มีความเห็นไม่ลงตัวกับ นายเสนาะ เทียนทอง กลุ่มของ นายประชัย และนายสมศักดิ์ จึงได้ไปรวมตัวกันใหม่ในชื่อพรรคมัชฌิมาธิปไตย

กระทั่งในปี 2551 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำพิพากษายุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี ทำให้ สส.ในกลุ่มของ นายสมศักดิ์ จึงย้ายมาร่วมกับกลุ่มเพื่อนเนวิน ในนามพรรคภูมิใจไทย และนายสมศักดิ์ นับได้ว่าเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในฐานะแกนนำกลุ่ม สส. ซึ่งสื่อมวลชนให้ชื่อกลุ่มแกนนำนี้ว่า “8 ส. + ส.พิเศษ” ประกอบด้วย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน, นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์, นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล, นายสุวิทย์ คุณกิตติ, นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ, นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ, นายสนธยา คุณปลื้ม และนายสรอรรถ กลิ่นประทุม ส่วน ส.พิเศษ คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ซึ่งในการเลือกตั้ง 2557 นายสมศักดิ์ ได้สมัครรับเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย 

และในปี 2561 นายสมศักดิ์ สิ้นสุดการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และประกาศเข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พร้อมเปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น กลุ่มสามมิตร โดยจับมือกับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้เป็นหัวหน้ากลุ่มสามมิตรทำการทาบทามบรรดาอดีต สส. สว. และนักการเมืองท้องถิ่นให้เข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ จนกระทั่งได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย ที่ได้รับเสียงโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในการเลือกตั้ง 2562 

โว ขณะที่เป็น สส. ไม่เคยอยู่ฝ่ายค้าน

กระทั่งวันที่ 17 มีนาคม 2566 นายสมศักดิ์ แถลงลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ และกลับมาร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย พร้อม นายสุริยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อดีตรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และอดีตหัวหน้ากลุ่มสามมิตร ซึ่งภายหลังจากที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งชนะคะแนนการเลือกตั้ง 2566 เป็นอันดับ 2 และได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต่อจากพรรคก้าวไกล นายเศรษฐา ได้รับการโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 และฟอร์มรัฐบาลขึ้นได้ โดยมี นายสมศักดิ์ ซึ่งเป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหนึ่งในนั้น คือ รองนายกรัฐมนตรี 

สำหรับ นายสมศักดิ์ ยังเคยตอบผู้สื่อข่าวในประเด็น หากย้ายพรรคไปแล้วมั่นใจหรือไม่จะได้เป็นรัฐบาล ว่า “ตอบไม่ได้ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือไม่ แต่ว่าผมก็ไม่เคยอยู่ฝ่ายค้านในขณะที่เป็น สส.” ซึ่งการได้กลับมาเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลก็พิสูจน์ได้อีกครั้งว่า นายสมศักดิ์ ไม่เป็นฝ่ายค้านในขณะที่เป็น สส. จริงๆ

สมศักดิ์ และ สุริยะ ออกจากพรรคพลังประชารัฐ ย้ายกลับเข้าพรรคเพื่อไทย
สมศักดิ์ และ สุริยะ ออกจากพรรคพลังประชารัฐ ย้ายกลับเข้าพรรคเพื่อไทย